เนื้อหาวันที่ : 2008-09-17 09:20:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3312 views

ปิดตำนานเลห์แมน บราเธอร์ส ดิ้นหลังชนฝา หมดแรงฝ่าเฮอริเคนการเงิน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จับตาดูพายุเฮอริเคน"ไอค์"ที่พัดกระหน่ำฐานการผลิตน้ำมันและก๊าสธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโก เพราะเกรงว่าพิษสงของเฮอริเคนไอค์จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปยืนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนกับพายุรุ่นพี่ อย่างเฮอริเคนริต้าและแคทรินา

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จับตาดูพายุเฮอริเคน"ไอค์"ที่พัดกระหน่ำฐานการผลิตน้ำมันและก๊าสธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโก เพราะเกรงว่าพิษสงของเฮอริเคนไอค์จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปยืนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหมือนกับพายุรุ่นพี่ อย่างเฮอริเคนริต้าและแคทรินา

.

แต่พลันสายตาทุกคู่ก็เบี่ยงเบนออกจากเฮอริเคนไอค์ และหันไปจับตา "พายุเฮอริเคนทางการเงิน" ที่ช็อคความรู้สึกของคนทั้งชาติ เมื่อหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมฉุกเฉินในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกให้กับ "เลห์แมน บราเธอร์ส" วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ ที่ขาดทุนหนักหลายไตรมาสติดต่อกัน จนต้องดิ้นรนขอเจรจาควบกิจการกับ แบงค์ ออฟ อเมริกา และธนาคารบาร์เคลย์สของอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านี้ เลห์แมน บราเธอร์ เคยขอเจรจาขายหุ้นให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลี (เคดีบี), โนมูระ ซิเคียวริตีส์ของญี่ปุ่น และธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศส ดอยช์ แบงค์ แต่สถาบันการเงินเหล่านี้ล้วนปฏิเสธที่จะซื้อ หรือ ควบกิจการกับเลห์แมน

.

การประชุมฉุกเฉินในช่วงสุดสัปดาห์จบลงด้วยข้อยุติที่ว่า รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจไม่อุ้มเลห์แมน บราเธอร์ส เหมือนกับที่เคยยื่นมือเข้าพยุงแฟนนี เม และเฟรดดี แมค สองสถาบันการเงินภายใต้การสนับสนุนของรัฐ โดยนายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐยืนยันว่า รัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่นำงบประมาณของรัฐมากู้วิกฤตของเลห์แมน ซึ่งเท่ากับว่า รัฐบาลสหรัฐปล่อยให้เลห์แมน บราเธอร์ส ดิ้นรนและเผชิญมรสุมทางการเงินด้วยตัวเอง

.

จุดยืนที่แข็งขันของรัฐบาลสหรัฐครั้งนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟดที่กล่าวให้สัมภาษณ์ในรายการ "This Week with George Stephanopoulos" ทางสถานีโทรทัศน์ ABC ว่า ..."รัฐบาลสหรัฐควรดำเนินการอย่างรอบคอบกับเลห์แมน บราเธอร์ส เพราะมีแนวโน้มว่าธนาคารและสถาบันการเงินรายใหญ่ของสหรัฐจะประสบปัญหาทางการเงินจนถึงขั้นล้มละลายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งรัฐบาลไม่ควรเข้าไปพยุงหรือช่วยเหลือทั้งหมด เพราะในทุกเกมชีวิต ย่อมมีผู้ชนะและผู้แพ้"

.

และในที่สุดเกมชีวิตก็บีบให้เลห์แมนเป็น "ผู้แพ้" เมื่อคณะผู้บริหารของเลห์แมนออกแถลงการณ์ว่า บริษัทได้ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายที่ศาลแขวงกรุงนิวยอร์ก ซึ่งธุรกิจที่ยื่นฟ้องขอพิทักษ์การล้มละลายครั้งนี้เป็นธุรกิจโฮลดิ้ง และไม่ครอบคลุมถึงบริษัทในเครือ

.

การล้มละลายของเลห์แมนครั้งนี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบสถาบันการเงินทั่วโลก เพราะถือเป็นการปิดฉากวาณิชธนกิจที่มีอายุถึง 158 ปี สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า วาณิชธนกิจที่มีระบบบริหารธุรกรรมทางการเงินเก่าแก่อย่างเลห์แมนก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะสินเชื่อที่หดตัวลงทั่วโลก แม้เลห์แมนจะก้าวข้ามพ้นวิกฤติเศรษฐกิจจากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ หรือผ่านภาวะล้มละลายของวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชียเมื่อ 10 ปีก่อนมาได้ก็ตาม

.

ข่าวการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กดิ่งเหว 504.48 จุด หรือ 4.42% ปิดที่ 10,917.51 จุดเมื่อคืนนี้ (15 ก.ย.) ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2544 อีกทั้งยังฉุดตลาดหุ้นในเอเชียดิ่งลงถ้วนหน้า โดยเช้าวันอังคารที่ 16 ก.ย. ดัชนีฮั่งเส็งเปิดตลาดทรุดลงไปกว่า 1,000 จุด ขณะที่ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวร่วงลงกว่า 600 จุดในช่วงเช้า

.

ก่อนหน้าที่ตลาดการเงินทั่วโลกจะช็อคไปกับข่าวการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์สนั้น ตลาดถูกกระทบอย่างหนักมาแล้วเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อแบร์ สเติร์นส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ได้ตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการขายกิจการให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค หนึ่งในวาณิชธนกิจที่ได้รับการยอมรับว่ามีงบดุลที่แข็งแกร่งในสุดในตลาดวอลล์สตรีท ส่งผลให้ความเป็นอิสระของแบร์ สเติร์นส์สิ้นสุดลง หลังจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดของสถานบันการเงินผู้ปล่อยกู้และหลังจากลูกค้าแห่ถอนเงินสดออกไปเป็นจำนวนมาก

.

ก่อนหน้าที่ แบร์ สเติร์นส์ จะขายกิจการให้เจพีมอร์แกนนั้น วาณิชธนกิจเก่าแก่อีกรายหนึ่งแห่งนี้ได้ยื่นขอวงเงินกู้ฉุกเฉินจากเฟดสาขานิวยอร์ก จนทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดวอลล์สตรีท

.

จากนี้ไป ทั่วโลกคงต้องจับตาดูพายุเฮอริเคนทางการเงินแบบชนิดไม่กระพริบตาว่า จะมีสถาบันการเงินรายใดที่เสี่ยงล้มละลายเป็นรายต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเมอร์ริล ลินช์ ประกาศขายกิจการให้กับ แบงค์ ออฟ อเมริกา ในเวลาไล่เลี่ยกับที่เลห์แมนยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย และหลังจากที่ กรีนสแปน อดีตประธานเฟด กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ ABC ว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิกฤตการณ์จะลุกลามอย่างรวดเร็วชนิดที่ตัวผมเองก็ไม่เคยเห็นมาก่อน และสถานการณ์ดังกล่าวจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะใกล้นี้... แต่หากสถาบันการเงินตั้งอยู่บนรากฐานที่ถูกต้องและมีการลงทุนควบคู่ไปกับการออมเพื่อให้กลไกเศรษฐกิจทำงานอย่างสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน สถาบันการเงินก็จะอยู่รอดและไม่ล้มละลาย แต่สถาบันการเงินที่ทำเช่นนี้ได้หายากมาก"

.

โรเจอร์ อัลท์แมน อดีตรมช.คลังสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นซีอีโอบริษัท  Evercore Partners Inc. แสดงความคิดเห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า ก่อนหน้านี้ วาณิชธนกิจที่มีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวในตลาดวอลล์สตรีทมีอยู่ 5 แห่ง แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่งบริษัททั้ง 2 แห่งจะรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ในเร็วๆนี้ โดยที่ผ่านมานั้น กิจการของโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ สามารถทำกำไรได้ในปีนี้ ไม่เหมือนกับเลห์แมน บราเธอร์ส และเมอร์ริล ลินช์ ที่ขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส

.

"ผมได้แต่คาดหวังว่า โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ จะสามารถหลุดพ้นวิกฤตการณ์ แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ในขณะนี้ คงต้องยอมรับว่ายากที่จะคาดเดา และหนทางที่วาณิชธนกิจกำลังจะเดินไปข้างหน้าก็ยังไม่แน่นอน ส่วนตัวผมเองก็ไม่แน่ใจด้วยเช่นกัน " อัลท์แมนกล่าว

.

ย้อนรอยสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สหรัฐล้มระเนระนาด เซ่นวิกฤตสินเชื่อ-ตลาดอสังหาฯตกต่ำ

สถาบันการเงินในสหรัฐมาถึงจุดพลิกผันครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression ) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์และปัญหาในตลาดซับไพรม์ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา เลห์แมน บราเธอร์ส ได้ยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ และในวันเดียวกันนั้น เมอร์ริล ลินช์ ประกาศขายกิจการให้กับแบงค์ ออฟ อเมริกา จนล่าสุดในวันนี้ บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) ยืนยันว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้วงเงินกู้ฉุกเฉินแก่ AIG แลกกับการที่เฟดเข้าไปถือครองหุ้น 79.9% ใน AIG

.

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดซับไพรม์ของสหรัฐได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก อีกทั้งยังส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะ "เปราะบาง" และทำให้ระบบการเงินตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย

.

"ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ลุกลามไปทั่วทั้งระบบ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาที่อยู่อาศัยและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ที่ผ่านมานั้นธนาคารหลายแห่งต้องระดมทุน และมีการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี จนถึงขณะนี้ไอเอ็มเอฟคาดว่า ยอดขาดทุนของสถาบันการเงินในสหรัฐจะยังคงอยู่ที่ 9.45 แสนล้านดอลลาร์ เหมือนกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย." ไอเอ็มเอฟกล่าวในรายงานว่า Global Financial Stability Report    

.
สำนักข่าวเอพี รายงาน "ย้อนรอย" เหตุการณ์ในตลาดวอลล์สตรีทตั้งแต่เดือน มี.ค.จนถึงปัจจุบัน ที่สะท้อนภาพสถาบันการเงินสหรัฐที่ประสบปัญหา "ล้มละลาย"
.

 - 16 มี.ค. : "แบร์ สเติร์นส์" วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 5 ของสหรัฐ ตัดสินใจขายกิจการให้เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค หลังจากบริษัทขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส และหลังจากลูกค้าแห่ถอนเงินสดออกไปเป็นจำนวนมาก โดยก่อนหน้าที่จะขายกิจการนั้น แบร์ สเติร์นส์ ยอมรับว่าได้ของวงเงินกู้ฉุกเฉินจากเฟดสาขานิวยอร์ก และเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค เนื่องจากขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

.

- 11 ก.ค.: รัฐบาลสหรัฐประกาศยึดกิจการธนาคาร "อินดีแมค" หลังจากธนาคารขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เพราะได้รับความเสียหายจากภาวะหดตัวในตลาดสินเชื่อ ราคาบ้านที่ทรุดตัวลง และยอดการผิดนัดชำระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น โดยก่อนล้มละลาย ธนาคารอินดีแมคมีสินทรัพย์ในครอบครองเป็นมูลค่ามากถึง 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และการล้มละลายของอินดีแมคได้สร้างความเสียหายให้แก่บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corp : FDIC) ประมาณ 8.9 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าตัวเลข 4-8 พันล้านดอลลาร์ที่ประเมินไว้เบื้องต้น

.

 - 7 ก.ย.: เฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐ ประกาศแผนพยุงกิจการ "แฟนนี แม" และ "เฟรดดี แมค" ซึ่งเป็นหน่วยงานซึ่งรัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุน (GSE) และมีหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หลังจากทั้ง 2 บริษัทขาดทุนในตลาดปล่อยกู้จำนองจนเป็นเหตุให้ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยเฟดระบุว่า แผนการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะพยุงสถานะทางการเงินของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลกว่า รัฐบาลสหรัฐพร้อมที่จะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องตลาดสินเชื่อไม่ให้ประสบปัญหามากไปกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดการเงินสหรัฐผันผวนอย่างรุนแรงเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดซับไพรม์

.

- 10 ก.ย.: "เลห์แมน บราเธอร์ส" วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ ดิ้นรนขอร่วมทุนกับสถาบันการเงินหลายแห่งหลังจากขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส โดยสถาบันการเงินที่เลห์แมนติดต่อขอร่วมทุนด้วยนั้น ได้แก่ แบงค์ ออฟ อเมริกา ธนาคารบาร์เคลย์สของอังกฤษ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลี (เคดีบี) โนมูระ ซิเคียวริตีส์ของญี่ปุ่น ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศส และ ดอยช์ แบงค์ แต่สถาบันการเงินเหล่านี้ล้วนปฏิเสธที่จะซื้อ หรือ ควบกิจการกับเลห์แมน

.

- 14 ก.ย.: กระทรวงการคลังและเจ้าหน้าที่เฟดได้จัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือถึงทางออกของเลห์แมน บราเธอร์ส แต่การประชุมจบลงด้วยข้อยุติที่ว่า รัฐบาลจะไม่นำงบประมาณออกมากู้วิกฤตของเลห์แมน ซึ่งเท่ากับปล่อยให้เลห์แมนดิ้นรนและเผชิญมรสุมทางการเงินด้วยตัวเอง

.

- 15 ก.ย.: ในที่สุด เลห์แมน บราเธอร์ส ตัดสินใจ "ผ่าทางตัน" ด้วยการยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายที่ศาลแขวงนิวยอร์ก ข่าวการล้มละลายของเลห์แมนได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วระบบสถาบันการเงินของโลก เพราะเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สถาบันการเงินของสหรัฐ และ ถือเป็นการปิดฉากวาณิชธนกิจที่มีอายุยาวนานถึง 158 ปี

.

- ในวันเดียวกันนี้ "เมอร์ริล ลินช์" วาณิชธนกิจรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งของสหรัฐ ตัดสินใจขายกิจการให้กับ แบงค์ ออฟ อเมริกา โดยเปิดทางให้แบงค์ ออฟ อเมริกา เข้าซื้อหุ้นสามัญของเมอร์ริล ลินช์ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมทั้งซื้อออปชัน หุ้นแปลงสภาพ และหน่วยหุ้น RSU (restricted stock  units) เป็นมูลค่ารวมกันอีก 6 พันล้านดอลลาร์

.

- 16 ก.ย.: เฟดตัดสินใจปล่อยวงเงินกู้ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ให้กับบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) แลกเปลี่ยนกับการที่เฟดเข้าไปถือหุ้น 79.9% ใน AIG  พร้อมกับออกแถลงการณ์สยบความแตกตื่นในตลาดตั้งแต่ช่วงเช้าว่า "คณะกรรมการเฟดเล็งเห็นว่า สถานการณ์ตึงเครียดในตลาดการเงิน และการขาดสภาพคล่องของ AIG อาจซ้ำเติมตลาดการเงินที่เปราะบางอยู่แล้ว ให้แย่ลงไปอีก อีกทั้งจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงมากกว่าเดิม การปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉินจะช่วยให้ AIG คล่องตัวทางการเงินจนสามารถดำเนินการตามภาระผูกพันเมื่อถึงเวลากำหนด และเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยให้กระบวนการที่ AIG จะขายธุรกิจบางส่วนเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อไม่ให้เกิดภาวะชะงักงันต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐ"