เนื้อหาวันที่ : 2008-09-11 16:15:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2173 views

CNG / LNG เรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจหนทางแก้วิกฤตน้ำมันแพง

สถานการณ์เนื่องมาจากวิกฤติน้ำมันทำให้ประชาชนมีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนระบบเครื่องยนต์ให้สามารถเติมก๊าซธรรมชาติแทนการใช้น้ำมันกันมากขึ้น จนเกิดภาวะสถานีจ่ายก๊าซไม่พอต่อความต้องการทำให้เป็นสถานการณ์เร่งด่วนของรัฐบาล

สถานการณ์เนื่องมาจากวิกฤติน้ำมันทำให้ประชาชนมีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนระบบเครื่องยนต์ให้สามารถเติมก๊าซธรรมชาติแทนการใช้น้ำมันกันมากขึ้น จนเกิดภาวะสถานีจ่ายก๊าซไม่พอต่อความต้องการทำให้เป็นสถานการณ์เร่งด่วนของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไข และในส่วนของประชาชนเองก็ควรต้องทำความเข้าใจในเรื่องของพลังงานทดแทนจากก๊าซธรรมชาติให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อประโยชน์ในระยะยาวก่อนที่จะนำรถยนต์ไปเปลี่ยนระบบการเติมก๊าซ

.

 

.

ควรเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่อง "ก๊าซธรรมชาติ" ก่อน ก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV (Natural Gas for Vehicle) เป็นเชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนซึ่งประกอบด้วยธาตุคาร์บอนกับธาตุไฮโดรเจนจับตัวกันเป็นโมเลกุล เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการทับถมของสิ่งมีชีวิตตามชั้นดิน และในทะเลหลายร้อยล้านปีเช่นเดียวกับน้ำมัน และเนื่องจากความร้อนและความกดดันของผิวโลกจึงแปรสภาพเป็นก๊าซ เป็นพลังงานสะอาดที่เหมาะสมสำหรับนายยนต์ในยุคน้ำมันแพง

 .

ดังนั้นผมและคณะวิจัยจึงได้สนใจศึกษาการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้สำหรับรถยนต์ ได้ทำโครงการปรับเปลี่ยนรถประจำทางที่ใช้น้ำมันดีเซลให้ใช้ก๊าซธรรมชาติแทน และยังมีโครงการวิจัยก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ เรือประมง และรถไฟด้วย ซึ่งขณะนี้ประชาชนได้นำรถยนต์ส่วนตัวมาปรับใช้ระบบก๊าซธรรมชาติกันมากขึ้น แต่ในประเทศไทยเรายังมีสถานีเติมก๊าซไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงควรมีการพัฒนาและลงทุนด้านสถานีเติมก๊าซให้เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพราะทุกวันนี้มีสถานีเติมก๊าซอยู่เพียง 215 สถานีเท่านั้น สถานการณ์ในตอนนี้จึงเกิดจากสถานีเติมก๊าซไม่เพียงพอไม่ใช่ก๊าซขาดแคลน

 .

NGV เป็นก๊าซธรรมชาติที่ถูกอัดจนมีความดันสูง (มากกว่า 3,000 ปอนด์/ตาราวนิ้ว psi) คุณสมบัติพิเศษของก๊าซ NGV คือมีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และเป็นก๊าซที่ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น มีปริมาณไอเสียที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และ NGV ยังเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดควันดำหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

 .

ในส่วนของ CNG (Compressed Natural Gas) คือก๊าซธรรมชาติอัด ได้มาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ เช่น อ่าวไทย โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ มีเทน ผสมอยู่กับก๊าซเชื้อเพลิงอื่น ๆ พวกที่มีไฮโรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบมากกว่า 1 ชนิด ในการนำมาใช้งานนั้นต้องแยกของเหลวที่เรียกว่า คอนเดนเสท และสารปนเปื้อนอื่นออกก่อน และ CNG ในบ้านเรามีลักษณะที่ต่างจากในประเทศอื่นตรงที่จะมีก๊าซเฉื่อยจำพวกคาร์บอนไดออกไซด์ปนอยู่ในสัดส่วนที่สูง บางหลุมในอ่าวไทยมีคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าร้อยละ 50 ส่วนก๊าซธรรมชาติแบบ LNG (Liquefied Natural Gas) เป็นก๊าซที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของเหลวเพื่อประโยชน์ในการขนส่งไปใช้ในที่ไกลๆ จากแหล่งผลิต

.

โดยมีกระบวนการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติให้เป็นของเหลวที่อุณหภูมิลบ 160 องศาเซลเซียส ซึ่งปริมาณจะลดลง 600 เท่า และขนส่งโดยเรือชนิดพิเศษมาที่สถานีรับปลายทาง ที่จะมีกรับวนการทำให้ LNG กลับกลายเป็นก๊าซธรรมชาติ ก่อนส่งเข้าท่อแจกจ่ายไปใช้ต่อไป ซึ่งก๊าซธรรมชาติเหล่านี้มีการนำไปใช้ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2529 ในโครงการรถเมล์ใช้เชื้อเพลิงกาซธรรมชาติร่วมกับประเทศนิวซีแลนด์เพื่อลดปัญหามลภาวะบนท้องถนนในกรุงเทพฯ และความที่ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ โครงการนี้จึงถูกพักไว้และถูกนำกลับมาเริ่มต้นต้นใหม่อีกครั้งในปี 2536

.

 .

.

โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศซีเอ็นจีจากประเทศเยอรมนี จำนวน 82 คัน มาใช้ในกรุงเทพฯ ตมโครงการทดลองการใช้เชื้อเพลิงสะอาด ซึ่งทั้ง 2 โครงการต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคหลายด้านประกอบกับน้ำมันในยุคนั้นยังมีราคาถูกทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งเกิดปัญหาน้ำมันราคาพุ่งสูงขึ้นในช่วง 3-4 ปี หลังนี้การใช้ก๊าซธรรมชาติกับรถยนต์ได้ถูกภาครัฐบาลรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งด้วยเหตุผลที่ต้องการลดต้นทุนค่าขนส่งเป็นหลัก

 .

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยการนำก๊าซธรรมชาติ NGV มาใช้กับรถยนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 และจัดตั้งหน่วยงานเพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ ติดตั้ง ระบบก๊าซธรรมชาติกับรถยนต์ โดยมีการตรวจสภาพรถยนต์ทั้งก่อนและหลังการติดตั้ง รวมถึงการออกแบบดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลให้ใช้ระบบก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับงานขนส่ง

 .

ในปัจจุบันได้สำรวจพบว่ามีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ CNG เป็นเชื้อเพลิงแล้ว 85,000 คัน และมีรถยนต์ที่ใช้ LPG ถึง 1,200,000 คัน โดยสิ่งที่สนใจก็คือราคาของ LPG ที่มีแนวโน้มที่จะขึ้น เพราะว่าราคา LPG ที่ใช้อยู่วันนี้เป็นราคาที่รัฐบาลให้การอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน โดยขายตันละ 330 เหรียญ ซึ่งตามจริงในราคาตลาดโลกซื้อขายกันที่ 970 เหรียญ/ตัน ซึ่งในอนาคตไทยจำเป็นต้องปรับราคาขาย LPG ขึ้นแน่นอน และส่วนตัวแล้วก็ไม่แนะนำให้นำรถยนต์ไปปรับเพื่อใช้ก๊าซ LPG เพราะมันเป็นก๊าซสำหรับใช้หุงต้มไม่ใช่ก๊าซสำหรับยานยนต์โดยเฉพาะ

 .

การเก็บก๊าซธรรมชาติในรูปของก๊าซธรรมชาติอัดซีเอ็นจี (CNG) และก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอ็นจี (LNG) ที่อุณหภูมิติดลบ 160 องศาเซลเซียส กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะ LNG ที่หลายประเทศได้นำไปใช้งานทดแทนน้ำมันแล้ว รายใหญ่ที่สุดคือญี่ปุ่น รองลงมาคือเกลาหลีใต้ที่ใช้ LNG ในการผลิตไฟฟ้าภาคการขนส่งมวลชน และการขนย้ายสินค้าด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยการนำเข้า LNG จากประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญคือ กาตาร์ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ตลอดจนถึงประเทศเพื่อบ้านไทยอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อิหร่าน และสหรัฐอเมริกา

.

 

.

คาดว่าไทยจะซื้อ LNG จากประเทศดังกล่าวเข้ามาใช้ในอีก 3 ปีข้างหน้าแน่นอน และสถานการณ์วิกฤติน้ำมันก็จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ น้ำมันจะไม่หมดจากโลก  แต่น้ำมันจะหายากขึ้น จะพบในแหล่งที่ยากต่อการขุดเจาะทำให้น้ำมันราคาสูงและมีคุณค่าทางการตลาดสูงตามไปด้วย สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่มองเห็นในตอนนี้ก็คือ 1.ใช้ก๊าซธรรมชาติ 2.ใช้พลังงานที่มาจากพืช และ 3.ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมาจากการเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลเพื่อให้ได้พลังงานนิวเคลียร์

 .

ข้อดีของ LNG เมื่อเทียบกับ CNG คือสามารถเก็บก๊าซธารรมชาติได้ด้วยพื้นที่น้อยกว่า CNG 2.4 เท่า มีน้ำหนักเบากว่าถัง CNG 5 เท่า มีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังมีค่าบำรุงรักษาสถานีบริการถูกกว่าแบบ CNG  5 เท่า และประหยัดค่าไฟฟ้าในสถานีบริการได้มากกว่า 10 เท่า แต่สำหรับก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยกลับมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไปจนไม่เหมาะที่จะแปรรูปเป็นก๊าซธรรมเหลว จึงอาจนำเขา LNG จากต่างประเทศมาใช้ทดแทนได้ทันที

 .

ภายในปี 2554 นี้ประเทศไทยก็อาจมีสถานี LNG เปิดใช้อย่างแพร่แล้วในขั้นต้น เพื่อใช้ในภาคการขนส่งมวลชนและสินค้า แต่ก็ต้องมีกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวดด้วยเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ในภายหลัง ส่วนน้ำมัน E85 ที่หลายคนกำลังรอคอยอยู่นั้น คือน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอธานอล 85 เปอร์เซ็นต์ ผลิตได้เองในเมืองไทยจากอ้อยและมันสำปะหลัง และส่วนผสมของน้ำมันเบนซิน 15 เปอร์เซ็นต์

 .

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้เปิดดำเนินการเป็นศูนย์ตรวจสอบมาตรฐานการติดตั้งก๊าซของรถยนต์ ซึ่งมีทีมอาจารย์ นักวิชาการ และนิสิต จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ปฏิบัติงานตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งขณะนี้มีรถยนต์เข้ามาใช้บริการศูนย์ตรวจสอบประมาณวันละ 50 คัน และจะมีสัดส่วนของรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานประมาณร้อยละ 80

 .

จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเจ้าของรถยนต์ที่นำรถไปติดตั้งระบบต่างๆ เพื่อให้ใช้ก๊าซเป็นพลังงานทดแทนได้ ควรต้องเลือกศูนย์ติดตั้งก๊าซให้รอบคอบ ศึกษาเรื่องเครื่องยนต์ ก๊าซที่เหมาะสม และความจำเป็นในการใช้รถในชีวิตประจำวันให้ดีเสียก่อนที่จะนำรถไปใช้ศูนย์ติดตั้ง

.

โดย : ผศ. ดร.พิพล บุญจันต๊ะ

ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นักเรียนทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกวิศวกรรมศาสตร์ปี 2518