ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอับดับที่ 13 จากอันดับ 19 ในปีที่ผ่านมา ของประเทศที่น่าลงทุนของโลก วัดจากระเบียบของภาครัฐและขั้นตอนในการยื่นเอกสาร รวมถึงจำนวนวันที่ต้องใช้ในการติดต่อหน่วยงานราชการ ไม่รวมปัจจัยภายอื่นที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจและบรรยากาศการลงทุน
จากรายงาน Doing Business 2009 ของธนาคารโลก (World Bank) และไอเอฟซี (International Finance Corp: IFC) ซึ่งเป็นรายงานการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจประจำปี 2009 ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 13 จากอันดับ 19 ในปีที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการลดขั้นตอนต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องผ่าน ไม่ว่าจะเป็นการชำระภาษี การจดทะเบียนธุรกิจ การส่งสินค้าข้ามแดน และการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ |
. |
โดยทั้งสองสถาบันได้ระบุว่า ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา (มิถุนายน 2550-2551) ประเทศในเอเชียตะวันออกทั้งหมด 24 ประเทศได้ออกมาตรการเพื่อลดขั้นตอนทางราชการรวมกันทั้งสิ้น 26 มาตรการ โดยมีประเทศจีนเป็นผู้นำประเทศอื่น ๆ ในเรื่องนี้ ทั้งนี้รายงาน Doing Business 2009 ได้ระบุว่า ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ทำการสำรวจนั้น ประเทศจีนได้ปรับปรุงกฏระเบียบของภาครัฐมากมายเพื่อลดขั้นตอนในการขอกู้เงินเพื่อทำธุรกิจ การชำระภาษี และการบังคับใช้สัญญาตามกฎหมาย |
. |
ประเทศอื่น ๆ ที่ตามหลังจีนมาติด ๆ ก็คือไทย กัมพูชา และมาเลเซีย โดยมาตรการต่าง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้นำมาใช้นั้น สามารถลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องผ่าน ไม่ว่าจะเป็นการชำระภาษี การจดทะเบียนธุรกิจ การส่งสินค้าข้ามแดน และการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังได้ดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิทธิของนักลงทุน ปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย และส่งเสริมสิทธิทางกฎหมายแก่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ด้วย ส่วนในกัมพูชานั้น การออกกฎหมายลักษณะประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ (law of secured transactions) ในปีที่ผ่านมา ก็ทำให้กัมพูชาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำในการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น |
. |
สำหรับมาตรการที่ประเทศไทยได้ดำเนินไปในปีที่แล้ว และส่งผลให้อันดับของไทยในรายงาน Doing Business สำหรับปี 2552 นั้นกระโดดมาอยู่ที่อันดับ 13 จากอันดับ 19 ในปีที่ผ่านมามีดังนี้ |
. |
การลดค่าธรรมเนียมและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นเอกสารชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งเป็นการลดภาระด้านภาษีและการทำธุรกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 1,200,000 บาทหรือน้อยกว่า และการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มพูนและปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อย การลดค่าโอนกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์และลดอัตราภาษีธุรกิจบางประเภท ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการโอนอสังหาริมทรัพย์ลงเหลือ 1.1% ของมูลค่าสินทรัพย์ จาก 6.3% |
. |
การผ่านพิธีการสินค้านำเข้า-ส่งออกด้วยระบบศุลกากรอิเล็คโทรนิคส์ หรือ E-customs ซึ่งทำให้ไทยสามารถลดจำนวนเอกสารที่ต้องยื่นเพื่อนำสินค้าเข้าจาก 9 เหลือ 3 และจาก 7 เป็น 4 สำหรับการส่งสินค้าออก การจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจโดยรายงานประจำปีเรื่อง Doing Business ของธนาคารโลกและไอเอฟซีนี้ เป็นการประเมินจากตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือเวลาและค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ กับราชการในเรื่องต่าง ๆ รวม 10 หมวดด้วยกัน ซึ่งทั้ง 10 หมวดนี้ก็เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนธุรกิจใหม่และการดำเนินธุรกิจ การส่งสินค้าข้ามแดน การชำระภาษีอากรและการปิดกิจการ ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมของการทำธุรกิจในแต่ละประเทศได้ในระดับหนึ่ง |
. |
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกก็ยังย้ำด้วยว่า การจัดอันดับ Doing Business นี้ เป็นเพียงการวัดจากระเบียบของภาครัฐและขั้นตอนในการยื่นเอกสาร รวมถึงจำนวนวันที่ต้องใช้ในการติดต่อหน่วยงานราชการเท่านั้น จึงไม่อาจสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยภายอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจและบรรยากาศการลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจมหภาค คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ความผันผวนของค่าเงินสกุลท้องถิ่น ความรู้สึกหรือมุมมองของนักลงทุนและผู้ประกอบการเอง หรืออัตราการเกิดอาชญากรรมของประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ |
. |
ส่วนประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่มีกฎระเบียบและขั้นตอนที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากที่สุดมาสองปีติดกันแล้ว ก็ยังสามารถครองตำแหน่งนี้ไว้ได้เป็นปีที่สาม และนิวซีแลนด์ก็ยังตามมาติด ๆ เป็นอันดับที่ 2 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับที่ 3 ฮ่องกงอยู่ที่อันดับ 4 เดนมาร์ก อันดับ 5 เช่นเดียวกับในการสำรวจครั้งที่แล้ว |
. |
"ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการปฏิรูปกฎหมายธุรกิจให้ทันสมัยมากขึ้น ไม่ว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะอยู่ในระดับไหนก็ตาม" ดาห์เลีย คาลีฟ่า (Dahlia Khalifa) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของไอเอฟซี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงาน Doing Business 2009 กล่าวว่า "นี่แสดงให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกตระหนักดีถึงบทบาทและความสำคัญของการลดภาระจากกฎระเบียบและขั้นตอนของทางการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบกิจการ รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจและการสร้างงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน" |
. |
ประเทศที่เป็นผู้นำของโลกเรื่องการลดขั้นตอนทางราชการในปีนี้ก็คือ อาร์เซอร์ไบจัน เพราะได้ดำเนินการปฎิรูปกฎระเบียบถึง 7 หมวดจากทั้งหมด 10 หมวดที่ Doing Business ทำการประเมิน ส่วนประเทศที่เหลือในกลุ่ม 10 ประเทศแรกที่มีการปฎิรูปกฎระเบียบเพื่อลดขั้นตอนในการติดต่อกับราชการมากที่สุดก็ประกอบไปด้วย อัลเบเนีย,สาธารณรัฐเคอร์กิซ,เบลารุส,เซเนกัล,เบอร์คีน่า ฟาร์โซ่, บอตสวานา, โคลัมเบีย, และสาธารณรัฐโดมินิกัน |
. |
ที่มา: ประชาไทดอทคอม |