เนื้อหาวันที่ : 2008-09-11 09:04:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1512 views

โกลว์ เผยแผนการลงทุนครั้งใหญ่ ซื้อ-ขายไฟฟ้าให้ กฟฝ. กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศลดระดับการพึ่งพาการนำเข้า LNG พลังงานในอนาคตลง และเป็นการเสนอขายไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับ กฟผ. โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายธุรกิจขนาดใหญ่

บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยกลุ่มบริษัทโกลว์ร้อยละ 65 ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 25 ปี กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์ กับ กฟผ.เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 โครงการนี้จะเพิ่มความหลากหลายในการใช้เชื้อเพลิงของประเทศและเป็นการเสนอขายไฟฟ้าในราคาที่ถูกให้แก่กฟผ. อีกทั้งยังเป็นโครงการที่รักษาสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา

.

โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) แห่งใหม่ กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์และโครงการขยายโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและไอน้ำร่วม กำลังการผลิต 382 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน CFB กำลังการผลิต 115 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จะมีมูลค่ารวมของโครงการทั้งสิ้นประมาณ 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตครั้งสำคัญนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่กลุ่มบริษัทโกลว์อีกกว่าร้อยละ 50 ภายในปลายปี 2554 นี้

.

นอกจากการลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์กับกฟผ. ดังกล่าวแล้ว ในปีนี้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนและไอน้ำร่วมของบริษัทยังได้มีการทำสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าจำนวน 152 เมกะวัตต์ และสัญญาซื้อ-ขายไอน้ำจำนวน 378 ตันต่อชั่วโมงกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่หลายราย เพิ่มเติมจากสัญญาการเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ได้รับจากกฟผ. จำนวน 74 เมกะวัตต์อีกด้วย

.

บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ. สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเอกชนรายใหญ่แห่งที่ 2 ของประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2554 นี้ โดยมีมูลค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 1,150 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินทุนส่วนหนึ่งประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐจะมาจากเงินกู้ยืมและส่วนที่เหลือจะมาจากส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งได้แก่กลุ่มบริษัทโกลว์ ร้อยละ 65 และบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 35 โดยมีบริษัท Doosan Heavy Industries and Construction จากประเทศเกาหลี เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการ

.

โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการเพิ่มความหลากหลายในการใช้เชื้อเพลิงและราคาไฟฟ้าที่ถูกลง รวมทั้งผลประโยชน์ที่มีต่อชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นได้จากการลดลงของก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โครงการดังกล่าวยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงเพื่อควบคุมการปล่อยมลสารและประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง

.

นอกจากนี้โกลว์ยังต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยมลสารจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันลง โดยปริมาณรวมของระดับการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) (ทั้งในอัตราการปล่อยจริงและในปริมาณสูงสุด) ในมาบตาพุดจะลดลงต่ำกว่าระดับปัจจุบันภายหลังการเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ อันจะส่งผลให้คุณภาพอากาศโดยรวมของมาบตาพุดดีขึ้น โครงการดังกล่าวจะต้องทำสัญญาด้านการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมและคาดว่าจะต้องสมทบในกองทุนราว 100 ล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของชุมชนในท้องถิ่น อันได้แก่ การพัฒนาด้านการศึกษา สุขอนามัย การพัฒนาอาชีพ การปรับปรุงคุณภาพชีวิต และการพัฒนาสังคมสำหรับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม

.

นายปีเตอร์ เทอร์โมท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทโกลว์ กล่าวว่า "โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศลดระดับการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตลง และเป็นการเสนอขายไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับ กฟผ. โครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายธุรกิจขนาดใหญ่ของบริษัท ซึ่งในระหว่างปี 2551 — 2554 นี้จะมีการใช้เงินทุนของบริษัทมูลค่ากว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการขยายทั้ง 3 โครงการ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จของบริษัท ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไปผลประกอบการของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกำลังการผลิตใหม่นี้ และภายในปี 2554 โกลว์จะมีขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งในด้านของขนาดและรายได้"

.

นายสุทธิวงศ์ คงสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงินกลุ่มบริษัทโกลว์ กล่าวว่า "เงินจำนวน 220 ล้านเหรียญสหรัฐจะนำมาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเก็คโค-วัน โดยส่วนที่เหลือจะมาจากหุ้นส่วนและเจ้าหนี้เงินกู้ยืมของโครงการ ในขณะที่เงินทุนอีกจำนวน 720 ล้านเหรียญสหรัฐของบริษัทจะถูกใช้สำหรับโครงการขยายโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและไอน้ำร่วม CFB 3 และ Phase 5 โดยเงินทุนทั้งหมดนี้จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินการและการกู้ยืมเงินของบริษัท ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผลในเกณฑ์ปรกติที่นักลงทุนคาดหวังไว้"