ฟูจิคูระ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาฟูจิคูระประจำประเทศไทย แห่งใหม่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ ชี้เลือกอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย วิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์แบบสีย้อมไวแสงในการพัฒนาสร้างพลังงานทดแทนเพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากน้ำมัน
. |
บริษัท ฟูจิคูระ (จำกัด) (Fujikura Ltd.) ตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาฟูจิคูระประจำประเทศไทย (Fujikura Research and
|
. |
ปัญหาวิกฤตพลังงานในปัจจุบันกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ เพราะถ้าหากน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การขนส่ง การผลิตกระแสไฟฟ้า หมดไป ผู้ประกอบการ ชาวบ้าน หรือเกษตรกร ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ฉะนั้นการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างพลังงานทดแทนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งพัฒนา และหากเป็นพลังงานทดแทนที่ส่งผลดีต่อสภาวะแวดล้อมด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ควรช่วยกันส่งเสริม |
. |
เซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ เป็นพลังงานทดแทนประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจมาช้านาน เพราะสามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ ไม่สร้างมลภาวะ และลดภาวะโลกร้อน บริษัท ฟูจิคูระ (จำกัด) (Fujikura Ltd.) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้า เส้นใยแก้วนำแสง (optical fiber) และแผงวงจรแบบนิ่มที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ พีดีเอ เป็นต้น จึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาฟูจิคูระประจำประเทศไทย (Fujikura Research and Development Center Thailand) เป็นแผนกวิจัยและพัฒนาของบริษัท FMOT Ltd. ซึ่งเป็นนิติบุคคลของบริษัท ฟูจิคูระ(จำกัด)ในประเทศไทย โดยใช้พื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ TSP (Thailand Science Park) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการสำหรับพัฒนาองค์ความรู้ด้านเซลล์แสงอาทิตย์ |
. |
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เป็นผู้นำในด้านพืชพลังงานและเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงานทางเลือก (Alternative energy) แห่งหนึ่งของโลก เมื่อมารวมกับจุดแข็งต่างๆ ของบริษัท ฟูจิคูระ (จำกัด) ที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลก และมีความสนใจที่จะจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ พร้อมทั้งฐานการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) สามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่สิ้นสุดและมีลักษณะกระจายไปถึงผู้ใช้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดปราศจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม |
. |
การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยของ บริษัท ฟูจิคูระ (จำกัด) นั้น ถือเป็นก้าวหนึ่งในการผลักดันคลัสเตอร์ด้านพลังงาน ซึ่งเป็นส่วนที่ สวทช. ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นในการสร้างความเข้มแข็งในคลัสเตอร์หลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตของประเทศ ปัจจุบันมีงานวิจัยทางด้านพลังงานอีกหลายชิ้นที่ทาง สวทช. ได้ทำร่วมกับพันธมิตรไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หน่วยภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เช่น หน่วยต้นแบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในบ้านและชุมชน (Tubular SOFC Stack for Household Distributed Generator), Research and Development on the Enlargement of Reactor for Biogas Production และยังมีหน่วยงาน SOLARTEC ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง |
. |
ดังนั้นเพื่อให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาด้านนี้อย่างเข้มข้น และเป็นการนำความรู้ที่พัฒนาเหล่านี้กลับสู่บุคลากรในประเทศ สวทช. มีความยินดีที่บริษัทได้เข้ามาสร้างฐานการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย และหากมีความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ฟูจิคูระ (จำกัด) สวทช. และสถาบันการศึกษาในประเทศ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ในการจัดหาแหล่งพลังงานทดแทน นอกเหนือจากแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานแก่ประเทศชาติ และจะช่วยแก้ปัญหาทางด้านพลังงานของโลกได้ในอนาคต |
. |
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความจำเป็นยิ่ง โดยเฉพาะการเร่งส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ก้าวทันกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าหากันทั้งภาคการศึกษา การวิจัยกับภาคการผลิต รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตด้วยกัน อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP : THAILAND SCIENCE PARK) จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามา “เช่าพื้นที่” ในการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านวิจัยและพัฒนาที่มีอยู่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ อย่างสะดวก รวดเร็วและครบวงจร |
. |
"การคัดเลือกบริษัทฟูจิคูระเพื่อให้เข้ามาเช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยนั้นถือเป็นก้าวหนึ่งในการผลักดันคลัสเตอร์ด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาด้านนี้อย่างเข้มข้น แม้ฟูจิคูระฯ จะเป็นบริษัทต่างชาติ แต่มองว่าการที่เข้ามาเช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯเพื่อทำการวิจัยและพัฒนานั้นจะเป็นการเปิดตลาดฐานความรู้ที่กว้างขึ้น เพื่อนำความรู้ที่พัฒนาขึ้นเหล่านี้กลับสู่บุคลากรในประเทศ ดังนั้นอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จึงเปิดกว้างและมีความยินดีที่บริษัทฟูจิคูระได้เข้ามาสร้างฐานการวิจัยและพัฒนาไปพร้อมกัน" |
. |
ด้าน ดร.อาคิระ วาดะ (Dr. Akira Wada) General Manager ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาฟูจิคูระประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ในปัจจุบัน บริษัทฟูจิคูระจะมีห้องปฏิบัติการสำหรับวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ก็สนใจประเทศไทยในฐานะเป็นตัวเลือกหนึ่งในการตั้งฐานการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ จึงเลือกตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนานอกประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งที่ 4 ศูนย์ปฏิบัติการนอกประเทศญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ ได้ทำการวิจัยซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาฟูจิคูระประจำประเทศไทย จะพัฒนาเกี่ยวกับเซลล์แสงอาทิตย์ |
. |
เนื่องจากเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีแนวโน้มของการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนอื่นๆ บริษัทจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาโซลาร์เซลล์ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นธุรกิจใหม่ในประเทศไทย ปัจจุบันจะเริ่มการวิจัยและพัฒนาจากหัวข้อวิจัยเรื่องเซลล์แสงอาทิตย์ก่อน และเรามีแผนที่จะเพิ่มหัวข้อการวิจัยและนักวิจัยให้เข้มแข็งจากนี้ไป ในอนาคตก็จะเริ่มงานวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์วัสดุทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งบริษัทในเครือฟูจิคูระได้มีการผลิตในปริมาณมากในประเทศไทยในปัจจุบัน
|
. |
. |
ดร.โนบูโอะ ทานาเบะ (Dr. Nobuo Tanabe) General Manager ศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีวัสดุ บริษัท ฟูจิคูระ (จำกัด) (Material Technology Laboratory, Fujikura Ltd.) กล่าวว่า "มีเหตุผลหลายประการที่บริษัทตัดสินใจเลือกตั้งห้องปฏิบัติการด้านเซลล์แสงอาทิตย์ที่ประเทศไทย เช่น ประเทศไทยมีพื้นที่ราบมากเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา และมีสภาพอากาศไม่แปรปรวน จึงเหมาะสำหรับการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ |
. |
นอกจากนี้ เนื่องจากมีปริมาณแสงแดดตลอดปีเป็น 1.5 เท่าของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่คำนวณได้ลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งในประเทศไทยมีบริษัทและโรงงานในเครือฟูจิคูระอยู่หลายบริษัทตั้งอยู่ และเป็นศูนย์กลางการผลิตของฟูจิคูระอยู่แล้ว แม้ฐานการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์จะอยู่ในประเทศไทยก็ตาม แต่บริษัทฟูจิคูระก็มีแผนที่จะผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ส่งขายทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่อยู่พื้นที่ห่างไกลซึ่งยังไม่มีระบบไฟฟ้าที่ดี หรือประเทศที่มีปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ และอนาคตตั้งใจจะขยายขอบเขตงานวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาไปสู่เรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจด้านอื่นด้วย" |
. |
ผศ. ดร.สุพิชชา รุ่งโรจน์นิมิตชัย ที่ปรึกษาด้านการวิจัยบริษัท FMOT Ltd. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เซลล์แสงอาทิตย์ที่บริษัท ฟูจิคูระ (จำกัด) พัฒนาขึ้นนั้น เป็นเซลล์แสงอาทิตย์แบบสีย้อมไวแสง (dye sensitized solar cell) ที่ใช้สารประกอบเชิงซ้อนของธาตุรูเทเนียม (ruthenium complex) ซึ่งสามารถดูดกลืนคลื่นแสงอาทิตย์ได้ในช่วงกว้างเป็นสีย้อมไวแสง และใช้อนุภาคนาโนของไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) ที่มีใช้กันทั่วไปในเครื่องสำอาง สีทาบ้านต่างๆ ในการดูดซับสีย้อมไวแสง และทำหน้าที่ในการรับอิเล็กตรอน และมีไอโอดีนเป็นสารละลายนำไฟฟ้าที่จะส่งอิเล็กตรอนต่อไปให้กับขั้วไฟฟ้า |
. |
ซึ่งปัจจุบันใช้เทคโนโลยีพิมพ์ลายขั้วไฟฟ้าบนกระจกนำไฟฟ้าแบบโปร่งใส เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดนี้ เมื่อเทียบกับเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้ซิลิคอนเป็นวัสดุแล้ว มีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการประเมินว่าจะมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิลิคอนไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว |
. |
เซลล์แสงอาทิตย์นี้มีหลักการทำงานโดยอาศัยแสงไปกระตุ้นกลไกทางปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีคล้ายกับการสังเคราะห์แสงของพืช ขณะนี้ได้มีการพัฒนาจนมีความทนทานในระดับที่ใกล้เคียงกับที่สามารถนำมาใช้งานจริงแล้ว ส่วนประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับเซลล์ขนาดเล็กมีสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่นั้นยังมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ หากสามารถทำการผลิตโดยรักษาประสิทธิภาพนี้ไว้ได้ ก็มีความเป็นไปได้ในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในครัวเรือน นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ให้ได้สูงเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และหากปรับปรุงความสามารถของสีย้อมในการดูดกลืนแสงอาทิตย์ให้ดีกว่าเดิมได้ จะช่วยเสริมให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว |
. |
นอกจากข้อดีต่างๆ ของประเทศไทยสำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อวิจัยและพัฒนาด้านเซลล์แสงอาทิตย์ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ดร.อาคิระ วาดะ ได้เสริมว่า “การที่บริษัทเลือกเช่าพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยนั้น เพราะที่นี่มีพื้นที่พร้อมสาธารณูปโภคครบครัน ทั้งยังใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งบริษัทสามารถคัดสรรนักศึกษาที่มีความสามารถมาทำงานด้วยได้โดยง่าย และที่สำคัญ บริษัท PCTT Ltd. และ F-Thai Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของฟูจิคูระก็ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ง่ายต่อการสร้างความร่วมมือต่อไปในภายหน้า |
. |
สำหรับห้องปฏิบัติการนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มงานพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ได้อย่างจริงจังภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตเซลล์แสงอาทิตย์คงไม่ได้มีหน้าที่หลักแค่เพียงผลิตกระแสไฟฟ้าในสิ่งแวดล้อมพิเศษเช่น เพื่อให้พลังงานกับดาวเทียมในอวกาศต่างๆ อีกต่อไป เพราะหากต้นทุนการผลิตถูกลง ราคาจำหน่ายก็จะถูกลงตามไปด้วย ฉะนั้นเชื่อว่าเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้เป็นพลังงานทดแทนสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในครัวเรือนคงจะมีให้เห็นกันในเร็วๆ นี้ |