แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แม้คาดว่าจะชะลอตัว จากปัจจัยลบภายในประเทศเริ่มผ่อนคลายลง มาจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง การลงทุนโดยรวมยังคงชะลอตัวจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยแนวโน้มชะลอลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็เป็นทิศทางที่ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม ปัจจัยบวกจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลาย การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด ขณะที่การลงทุนโดยรวมอาจยังคงชะลอตัวเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง |
. |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2551 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.8% ชะลอลงจาก 6.0% ในไตรมาสที่ 1/2551 แต่ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่น่าพอใจ และเป็นระดับสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้ภาคการเกษตรเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้สามารถเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง ส่วนปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2551 ชะลอตัวลงมาจากฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุล และการชะลอตัวในด้านการลงทุน |
. |
ส่วนแนวโน้มในไตรมาสที่ 3/2551 แม้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็เป็นทิศทางที่ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงตั้งแต่ในช่วงเดือน ส.ค. แต่การที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัด ขณะที่การลงทุนโดยรวมอาจยังคงชะลอตัวเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง |
. |
"แม้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3/2551 และไตรมาสที่ 4/2551 มีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าที่คาดในช่วงครึ่งปีแรกส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกปี 2551 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.8% สูงใกล้เคียงกับเป้าหมายของรัฐบาลที่ 6% แม้ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างรุนแรง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ |
. |
นอกจากนี้ การชะลอของอัตราการเติบโตของการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าด้วย ในด้านการส่งออกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในภูมิภาคหลักๆ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการเงินของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถผ่านพ้นช่วงเลวร้ายที่สุด ขณะที่ยูโรโซนและญี่ปุ่นกำลังอยู่บนความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยอาจลดลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกทั้งในด้านปริมาณและราคา หลังจากผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น |
. |
"แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แม้คาดว่าจะชะลอตัว แต่ก็อาจมีทิศทางที่ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจัยลบที่กดดันการใช้จ่ายภายในประเทศเริ่มผ่อนคลายลง ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ |
. |
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 51 ขึ้นเป็น 5.3% จากประมาณการเดิมที่ 4.9% และเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าในปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.8% อัตราเงินเฟ้อจะมีระดับเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ 6.6% การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัว 2.6% สูงขึ้น 1.5% จากปี 50 และการลงทุนโดยรวมขยายตัว 3.3% สูงขึ้น 1.4% จากปี 50 ขณะที่การนำเข้าเร่งตัวสูงขึ้นอย่างมากส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีฐานะเกินดุลลดลงมาเป็น 5.8 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 15.8 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 50 |
. |
สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมัน, ความเสี่ยงจากการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลก, ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง, ความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ รวมทั้งทิศทางราคาและภาวะอุปทานของสินค้าเกษตรในตลาดโลก |
. |
นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่คาดว่าการใช้นโยบายการเงินคงมีข้อจำกัด เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงมีระดับที่สูงอาจเป็นปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีความกังวล และยังคงยืนระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.50% ต่อไป จึงต้องรอการใช้นโยบายการคลังซึ่งรัฐบาลมีแผนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกในปีนี้ รวมทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นการลงทุนในระบบเศรษฐกิจและการขยายตัวของธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว |