เนื้อหาวันที่ : 2008-08-21 09:50:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1473 views

รฟท.เตรียมปัดฝุ่นโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ลงทุนกว่า 2 แสนล้าน คาดเปิดประมูลได้ในปี 52

รฟท. เตรียมเปิดประมูลโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีมักกะสัน(มักกะสันคอมเพล็กซ์)ได้ในปี 52 ตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนแผนงานให้เหมาะสมซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

.

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) คาดว่า จะสามารถเปิดประมูลโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีมักกะสัน(มักกะสันคอมเพล็กซ์)ได้ในปี 52 ตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนแผนงานให้เหมาะสมซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

"สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไปจึงได้นำโครงการดังกล่าวมาศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือนหลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประกวดราคาเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้ามาลงทุนประมาณปี 52" นายยุทธนา กล่าว

.

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวจะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ส่วนรูปแบบการลงทุนจะให้เอกชนรายเดียว หรือหลายรายพัฒนาที่ดินนั้น คงต้องรอผลการศึกษาก่อน

.

สำหรับโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณย่านโรงงานมักกะสันมีเนื้อที่ 571 ไร่ สามารถพัฒนาที่ดินเพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม สถานบันเทิง ร้านค้าปลอดภาษี คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ซึ่งทำเลที่ตั้งถือว่าอยู่ใจกลางเมือง และในอนาคตเมื่อโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์เปิดให้บริการ บริเวณดังกล่าวก็จะเป็นจุดเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับศูนย์กลางเมืองธุรกิจ

.

ส่วนเรื่องการพัฒนารายได้จากการขนส่งสินค้านั้น ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างการเสนอ ครม.อนุมัติจัดซื้อหัวรถจักรอีก 20 คัน มูลค่า 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการรถไฟทางคู่สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ตอนฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-แหลมฉบัง ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2553 โดยเมื่อโครงการรถไฟทางคู่เปิดให้บริการและมีหัวรถจักรที่เพียงพอกับการให้บริการก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าได้มากขึ้น

.

นายยุทธนา กล่าวว่า  ตนเองตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการบริหารทรัพย์สินอีก 1,000 ล้านบาทในปี 2552  ซึ่งจะทำให้รายได้จากการบริหารทรัพย์สินเป็น 2,200 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายได้ปีละประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการติดตามหนี้สินเดิม และการต่อสัญญาเช่าเดิม ซึ่งคาดว่ารายได้จากส่วนนี้จะมีประมาณ 500 ล้านบาท นอกจากนั้นจะมีรายได้เพิ่มจากการพัฒนาสถานีรถไฟตามชานเมืองสายสีแดง