เนื้อหาวันที่ : 2008-08-20 14:34:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2266 views

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือ?

อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น เราไม่อาจรอเป็นเวลานานหลายทศวรรษจึงค่อยตอบสนองต่อปัญหาโลกร้อนได้ ปัญหาโลกร้อนกำลังกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกปี ตรงกันข้ามกับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ช่วงรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้สัมภาษณ์หลังจากทราบว่า หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า 

"พลังงานนิวเคลียร์มีความจำเป็นสำหรับการจัดหาพลังงานในระยะยาวของประเทศ ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน" (มติชน,19 กันยายน 50) ในตอนท้ายรัฐมนตรีท่านนี้ได้ฝากถึงนักการเมืองในอนาคตว่า "อยากฝากถึงพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยว่าหากจะมีการกำหนดนโยบายอะไรออกมาขอให้ดูผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และต้องดูถึงผลระยะยาวด้วย เรื่องนิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี แต่รัฐบาลมีอายุการทำงานเพียง 4 ปีเท่านั้น"

สาระสำคัญที่รัฐมนตรีพลังงานได้เสนอมี 3 ประเด็น คือ
หนึ่ง ทั่วโลกกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง (หลังจากการระเบิดที่เชอโนบิลเมื่อ 21 ปีก่อน) สอง พลังงานนิวเคลียร์ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน และ สาม เรื่องนิวเคลียร์เป็นเรื่องต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานถึง 14 ปี ความจริงแล้วเรื่องพลังงานนิวเคลียร์หรือเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีหลายประเด็น เช่น เรื่องต้นทุน เรื่องอุบัติเหตุ เรื่องการเก็บกากของเสีย เรื่องการก่อการร้าย เป็นต้น แต่เมื่อท่านรัฐมนตรีเสนอมาเพียง 3 ประเด็น เราจึงมาพิจารณาเหตุผลกันทีละประเด็นกันครับ

ในสองประเด็นแรก คนไทยเราไม่ค่อยมีข้อมูลเพราะเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ แม้จะมีการเคลื่อนไหวกันหลายครั้ง ตั้งแต่ก่อนรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร (2510) แต่ก็ต้องชะงักไปทุกครั้ง สำหรับประเด็นที่สามนั้น แม้จะเป็นความจริงอย่างที่รัฐมนตรีกล่าวคือต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวนานอย่างน้อยถึง 14 ปี แต่สิ่งที่คุณปิยะสวัสดิ์ไม่ยอมกล่าวถึงก็คือ การจัดกระบวนการมีส่วนของประชาชน ให้ประชาชนทุกภาคส่วนทั้งที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง

 แต่อยู่ๆ รัฐบาลชั่วคราวที่มาจากการรัฐประหารและมีอายุการทำงานเพียง 1 ปี ก็รวบรัดบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนการพัฒนากำลังผลิตที่เรียกว่า "แผนพีดีพี 2007" และได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา เป็นที่น่าสังเกตว่า การทำประชาพิจารณ์แผนดังกล่าวก็ทำกันในสโมสรทหารบก (3 เมษายน 50) เพราะเกรงชาวบ้านที่ติดตามเรื่องมีมาชนิดกัดไม่ปล่อยจะเข้าไปคัดค้าน ในสื่อโทรทัศน์เองก็มีการโฆษณาของฝ่ายสนับสนุนเพียงอย่างเดียว ฝ่ายที่มีความเห็นต่างจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศ

อมาตยะ เซ็น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์และคลุกคลีอยู่กับคนยากจนกล่าวว่า "ระบอบประชาธิปไตยก็คือระบอบที่ให้สังคมได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างกว้างขวางในประเด็นสาธารณะ"  การจัดทำแผนพลังงานดังกล่าวของรัฐบาลชุดนี้เป็นเผด็จการทั้งรูปแบบและเนื้อหา ดังนั้นในประเด็นที่สามที่ท่านรัฐมนตรีพลังงานเสนอนั้น เขาไม่เห็นชาวบ้านอยู่ในสายตา คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของความรู้

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับคณะทูตและกงสุลประจำประเทศต่างๆ ว่า "...เขาบอกว่าเดี๋ยวนี้พลังงานปรมาณู เป็นพลังงานที่สะอาดมาก ก็จริง สะอาดที่สุด แต่ว่าถ้าอันตรายก็อันตรายถึงตายทั้งนั้น ท่านทูตน่าจะไปถามผู้เชี่ยวชาญที่ทำเกี่ยวข้องกับพลังงาน..” (กรุงเทพธุรกิจ 29 สิงหาคม 2550) คุณปิยะสวัสดิ์ก็ออกมาปรามว่า ไม่อยากให้ใครนำกระแสพระราชดำรัสไปอ้างโดยไม่ระมัดระวัง ต่อไปนี้มาพิจารณาในประเด็นแรกกันครับ คือ ทั่วโลกกลับมาหาพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง

ท่านรัฐมนตรีใช้คำว่า "ทั่วโลก" เป็นการกล่าวที่เกินความจริงไปมากทีเดียว จากเอกสาร "Nuclear Power in the World Today." World Nuclear Association.(2007) http://www.world-nuclear.org/info/inf01.html พบว่าปัจจุบันทั่วโลกมีเพียง 30 ประเทศเท่านั้นที่มีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ คิดเป็นเพียง 16% ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในโลก โดยมีเตาปฏิกรณ์จำนวน 435 แห่ง

ที่น่าคิดคือ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ส่งออกแร่ยูเรเนียมมากที่สุดในโลก แต่ยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แม้แต่โรงเดียว (ปัจจุบันกำลังมีการถกเถียงกันว่าสมควรจะมีหรือไม่) เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการคิดค้นพลังงานนิวเคลียร์ได้สำเร็จครั้งแรกในโลก ก็ประกาศว่าจะค่อยๆ ปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด โดยไม่มีการสร้างขึ้นใหม่อีก แต่หันไปหาพลังงานลม แสงอาทิตย์และชีวมวล

ปัจจุบันทั่วโลกมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 32 แห่ง ในจำนวนนี้ 18 แห่งอยู่ในทวีปเอเชีย ณ ปี 2550 ทั่วโลกมีการเสนอสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 214 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในประเทศจีน 86 แห่งและอินเดีย 15 แห่ง ถ้านับเป็นประเทศก็มีเพียง 23 ประเทศ ในจำนวน 23 ประเทศนี้ ส่วนมากก็เป็นการสร้างเพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว ที่เป็นการเสนอสร้างใหม่ครั้งแรกของประเทศมีเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามข้อมูลในความเป็นจริงยังห่างไกลจากคำว่า "ทั่วโลก" ที่ท่านรัฐมนตรีพยายามจะชักนำสังคมราวกับเป็นนัก "ลอบบี้ (Lobby)" (ดูภาพการ์ตูนประกอบ) บางท่านอาจคิดว่า "เห็นไหมประเทศจีนหันมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันเยอะมาก" แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนกันแล้ว พบว่าประเทศจีนมีการสร้างพลังงานหมุนเวียนมากเป็นสองเท่าของพลังงานนิวเคลียร์

เรายังคงเหลือประเด็นเดียวคือการช่วยลดปัญหาโลกร้อนครับ 
ด้วยความที่ต้องการจะแหกวงล้อมที่รัฐบาลชุดได้พยายามมิให้สังคมไทยได้รับทราบทัศนะที่แตกต่าง ผมจึงได้ค้นคว้าหาความรู้มาจากผู้เชี่ยวชาญมาเสนอในที่นี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ผมว่านี้เป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยคิดเหมือนกับนักฟิสิกส์หนุ่มๆทั่วไปว่า "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับอนาคต" แต่เมื่อเขาได้ผ่านประสบการณ์การทำงาน มานานปีเขาก็กลับปฏิเสธความคิดในอดีตของเขาเองอย่างสิ้นเชิง

ท่านผู้นี้คือศาสตราจารย์เอียน โลวิ (Ian Lowe) เป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการวิชาการในระดับสากล ทำงานวิจัยมานานกว่า 40 ปี ท่านศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยนิวเซ้าท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ต่อมาได้รับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยยอร์กประเทศอังกฤษ โดยได้รับทุนจากการสนับสนุนจากองค์การพลังงานอะตอมแห่งสหราชอาณาจักร (UK Atomic Energy Authority) นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เอียน โลวิ เป็นประธานมูลนิธิอนุรักษ์แห่งประเทศออสเตรเลีย (Australia Conservation Foundation) อีกด้วย

ในประเด็นที่ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วยลดปัญหาโลกร้อน ศาสตราจารย์ผู้นี้แสดงความเห็นว่า
การแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นมันช้าเกินไปเสียแล้ว สมมุติว่าสังคมใดมีความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในวันนี้ ก็ต้องรออีกอย่างน้อย 15 ปี (ใกล้เคียงกับที่คุณปิยะสวัสดิ์อ้างถึง แต่เริ่มต้นจากการเห็นพ้องกันแล้ว ไม่ใช่เริ่มต้นจากการเสนอจากภาครัฐ) จึงจะสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ บางความเห็นบอกว่าอาจต้องใช้เวลานานถึง 25 ปีจึงจะเป็นจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมและการคัดค้านในประเทศออสเตรเลียเอง

เราไม่อาจรอเป็นเวลานานหลายทศวรรษจึงค่อยตอบสนองต่อปัญหาโลกร้อนได้ ปัญหาโลกร้อนกำลังกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกปี ตรงกันข้ามกับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไฟฟ้าจากกังหันลมสามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ภายใน 1 ปีและการประหยัดพลังงานสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในทันที

ท่านกล่าวว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ใช่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะการทำเหมืองแร่ยูเรเนียม กระบวนการผลิตแร่ยูเรเนียม การเพิ่มประสิทธิภาพแร่ (enrichment) และการสร้างโรงไฟฟ้า ล้วนต้องใช้พลังงานจากฟอสซิลจำนวนมากซึ่งก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนเช่นกัน
 
"ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการเพิ่มมลพิษเรือนกระจก (greenhouse pollution) แต่ในระยะยาวแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่าพลังงานหมุนเวียนเช่นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเสียอีก"
 
ท่านให้เหตุผลว่า แร่ยูเรเนียมที่มีคุณภาพดีค่อนข้างจะมีน้อย มีการประมาณกันว่า ถ้าความต้องการไฟฟ้ายังคงเท่าเดิม แร่ยูเรเนียมคุณภาพดีจะสามารถตอบสนองความต้องการของโลกได้อีกเพียง 40 ถึง 50 ปีเท่านั้น ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าที่ใช้กันทั้งโลก มาจากพลังงานนิวเคลียร์ประมาณ 16% เท่านั้น ดังนั้นถ้าเราจะนำพลังงานนิวเคลียร์มาแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แร่ยูเรเนียมชั้นดีก็จะหมดภายในเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษเท่านั้น
 
จริงอยู่ยังมีสินแร่ยูเรเนียมคุณภาพรองลงมาอีกมาก แต่ก็ต้องใช้พลังงานอีกจำนวนมากไปในกระบวนการผลิตซึ่งก็เป็นการสร้างก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมากอีกมาก ดังนั้นข้อเสนอเรื่องการลดปัญหาโลกร้อนของท่านรัฐมนตรีปิยะสวัสดิ์จึงไม่เห็นความจริง
 
ศาสตราจารย์เอียน โลวิ สรุปในประเด็นนี้ว่า โปรดอย่าลืมว่า แร่ยูเรเนียม ก็เหมือนน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน คือเป็นแหล่งพลังงานที่มีจำนวนจำกัด มีเพียงพลังงานหมุนเวียน ( Renewable Energy) เท่านั้น คือลม แสงแดด และชีวมวล ที่มีจำนวนไม่จำกัด
 
ดังนั้น สิ่งที่พลเมืองไทยควรเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกชุด ก็คือการเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ไม่ใช่ฝ่ายรัฐเป็นผู้โฆษณาอยู่ฝ่ายเดียว โปรดฟังอีกครั้ง!
 
ประสาท มีแต้ม
อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
ที่มา : http://blogazine.prachatai.com/user/prasart/post/6