เนื้อหาวันที่ : 2008-08-14 11:46:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2506 views

EcoInnovAsia 2008 การประชุมนานาชาติ ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ

สนช. เปิดตัว งานประชุมนานาชาติ "EcoInnovAsia 2008" นี้ เวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายวิสาหกิจอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพให้เข้มแข็ง สร้างความตระหนักด้านการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

.

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวการประชุมนานาชาติ "EcoInnovAsia 2008: An International Conference and Exhibition on Biofuel and Bioplastics" ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2551 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN-ESCAP) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) องค์การความร่วมมือทางวิชาการเยอรมัน-ไทย (GTZ) เครือซิเมนต์ไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปเปอเรชัน ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

.

ดร. สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และและปร ะธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า "การจัดงานประชุมนานาชาติ “EcoInnovAsia 2008นี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายวิสาหกิจอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพให้เข้มแข็ง อันจะชักนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมเศรษฐนิเวศอย่างก้าวกระโดด และเป็นโอกาสที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวมวลของประเทศไทย รวมทั้งเป็นการสร้างความตระหนักด้านการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม "

.

การจัดงานในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จของการจัดแสดงนิทรรศการและการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จในการจัดงาน "อินโนไบโอพลาสต์ (innoBioPlast 2006)" เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นงานประชุมนานาชาติที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย โดยในปีนี้ได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพด้วย เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาวิกฤตพลังงาน และความต้องการแหล่งพลังงานใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเชื้อเพลิงจากชีวมวล ซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในด้านวัตถุดิบชีมวล และสามารถนำมาพัฒนาเป็นพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศต่อไป"

.

ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า การประชุมนานาชาติ EcoInnovAsia 2008 นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากงาน innoBioPlast 2006 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้สนใจมากกว่า 20 ประเทศเข้าร่วมการประชุมและเข้าชมนิทรรศการ การประชุมนานาชาติในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการลงทุนใหม่บนธุรกิจฐานความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ไบโอเอทานอล ไบโอดีเซล และพลาสติกชีวภาพ

.

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำจากภาคอุตสาหกรรม และภาควิจัย มากกว่า 35 ท่านจากทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล และไทย ภายใต้หัวข้อที่ครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นความก้าวหน้าทางด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดไปจนถึงการวิเคราะห์ด้านโอกาสทางด้านการตลาดและการลงทุน จึงนับว่าเป็นการประชุมที่บูรณาการเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพได้อย่างสมบูรณ์แบบ ที่สำคัญยังมีหัวข้อที่เจาะลึกถึงด้านโอกาสของการลงทุนในด้านที่เกี่ยวข้องกับชีวมวลในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของชีวมวลในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

.
งานครั้งนี้นับเป็นการเปิดช่องทางในการทำธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมเศรษฐนิเวศ (Eco-Industry) ได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีการจัดแสดงนิทรรศการจากบริษัทชั้นนำจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สนช. เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม แปรงสีฟัน และบัตรเครดิตที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภพาจากบริษัทในสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย สำหรับนิทรรศการเด่นในครั้งนี้ ได้แก่ รถยนต์ “Mazda 5 Hydrogen Hybrid” ซึ่งจัดเป็นสุดยอดนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปเปอเรชัน ได้สนับสนุนให้นำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้ด้วย ซึ่งความพิเศษของรถคันนี้นอกจากจะขับเคลื่อนได้โดยพลังงานจากไฮโดรเจน 
.

นับว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่สุดในปัจจุบันแล้ว วัสดุตกแต่งภายในตัวรถยังผลิตจากพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) และเส้นใยธรรมชาติ (Biofabric) อีกด้วย ทำให้สามารถกล่าวได้ว่าเป็นสุดยอดยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือที่ทำมาจากพลาสติกชีวภาพของบริษัท เอ็นอีซี คอร์ปเปอเรชัน ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้งานได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และการจัดแสดงการใช้งานพลาสติกชีวภาพในงานด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งเป็นการใช้งานพลาสติกชีวภาพเพื่อดูดซับน้ำใต้ดินสำหรับเตรียมพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สนามบินนานาชาติ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยบริษัท ยูนิชิกะ จำกัด ซึ่งมีการใช้งานจริงแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว

.

ยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจจากบริษัทต่างประเทศอีกหลายบริษัท อาทิ บริษัท อูเด้ บริษัท พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มาแกง และบริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเองก็มีบริษัทที่มีศักยภาพจำนวนไม่น้อยที่พัฒนางานด้านพลาสติกชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทในกลุ่มของสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ซึ่งได้มีโอกาสมาแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมภายในงานนี้ด้วย" ดร. ศุภชัยฯ กล่าว