เนื้อหาวันที่ : 2008-08-08 10:02:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1357 views

รมต.พลังงานอาเซียน เตรียมแผนหาแหล่งสำรองน้ำมันไว้ยามฉุกเฉินสำหรับการใช้ในภูมิภาค

รมต.พลังงานอาเซียน ยกระดับการเชื่อมโยงแหล่งพลังงานภายใต้กรอบอาเซียนร่วมกัน 2 หากประเทศใดเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันประมาณ 10% ก็สามารถช่วยเหลือกันได้ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบสำรองน้ำมัน เพื่อป้องกันการขาดแคลน และลดผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพงในอนาคต

พล.ท. หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุม รมต.พลังงานอาเซียน ครั้งที่ 26 เห็นชอบแผนงานโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในภูมิภาค ซึ่งยกระดับการเชื่อมโยงแหล่งพลังงานภายใต้กรอบอาเซียนร่วมกัน 2 ด้าน ได้แก่ การเชื่อมโยงท่อก๊าซธรรมชาติระหว่างประเทศ ซึ่งได้เริ่มศึกษาถึงความคุ้มทุนในการเชี่อมโยงแหล่งก๊าซนาทูน่า ประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นแหล่งก๊าซที่มีการสำรองสูงเพียงพอสำหรับการใช้ในภูมิภาค

.

พล.ท. หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน

.

แผนงานดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะวางท่อส่งก๊าซหลักมายังประเทศไทย และแยกย่อยไปยังประเทศอื่น อาทิ สิงค์โปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน รวมทั้งการเชื่อมโยงด้านสายส่งไฟฟ้า ซึ่งจะมีการผลักดันโครงการที่เหลืออีก 11 โครงการให้เกิดการพัฒนาโดยเร็ว จากปัจจุบันที่ดำเนินการแล้ว 3 โครงการ คือ ไทย-มาเลเซีย, ไทย-สิงคโปร์ และสิงค์โปร์-มาเลเซีย  

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ จะจัดทำแผนการสำรองน้ำมันในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบสำรองน้ำมัน เพื่อป้องกันการขาดแคลน และลดผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพงในอนาคต ภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ คือ ต้องเป็นความสมัครใจไม่มีข้อผูกมัด เกิดประโยชน์ร่วมกัน เคารพสิทธิของกันและกันทั้งในระดับทวิภาคีและหพุภาคี และเกิดการพัฒนาในระยะยาว ซึ่งการจัดทำแผนดังกล่าวจะมีขึ้นในเดือน พ.ย.51 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งหากประเทศใดเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันประมาณ 10%  ก็สามารถใช้ข้อตกลงดังกล่าวได้ แต่หากประเทศผู้ส่งออกมีปริมาณน้ำมันจำนวนมากเกินไปก็สามารถขายให้กับประเทศผู้นำเข้าได้เช่นกัน

.

ส่วนผลการประชุม รมต.พลังงานอาเซียน+3(จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ได้จัดทำภาพอนาคตพลังงานในอาเซียน ซึ่งจะใช้วิเคราะห์แบบสร้างสถานการณ์ในปี 2548-2573 ที่แสดงถึงความต้องการพลังงานในภูมิภาค ซึ่งต้องตามมาด้วยแผนการจัดหาเชื้อเพลิง และสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในการวางแผนด้านความร่วมมือพลังงานในระดับภูมิภาค

.

ทั้งนี้ ไทยได้เสนอให้มีการผลักดันศักยภาพด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของอาเซียน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล ขณะที่เกาหลีได้เสนอแผนสนับสนุนและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยจะมีการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับความรู้ กฎระเบียบ เทคโนโลยี และแนวทางปฏิบัติให้กับประเทศสมาชิก รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการกับประเทศสมาชิก ในการพัฒนากลไกสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

.

ขณะที่การประชุม รมต.พลังงานอาเซียน+6 กำหนดให้มีการศึกษาเพื่อหามาตรฐานเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยเฉพาะไบโอดีเซลร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการค้าขาย และเปลี่ยนเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต รวมทั้งเห็นชอบหลักการพัฒนาชีวมวลในเอเชีย  ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การใช้ และการวางมาตรการป้องกันผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม