เนื้อหาวันที่ : 2008-08-07 11:30:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1538 views

สศช.กางวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 คาด GDP โตเฉลี่ยปีละ 5.73%

สศช.คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าตั้งแต่ปี 2551-2570 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.73% แต่รูปแบบและกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันจะหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ยากต่อการดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชัน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่า ในการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570 ของ สศช.ซึ่งจะมีการระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ สศช.เตรียมนำเสนอผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือตั้งแต่ปี 2551-2570 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.73%

.

ส่งผลให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ซึ่งไม่รวมดัชนีเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นจาก 4.24 ล้านล้านบาท ในปี 50 เป็น 12.98 ล้านล้านบาท ในปี 2570 โดยเศรษฐกิจในช่วงปี 51-55 จะอยู่ในช่วงปรับตัวจากผลกระทบของราคาน้ำมันและเข้าสู่ช่วงของการขยายตัวสูงสุดเฉลี่ย 5.93% ในช่วงปี 56-60 ก่อนชะลอลงที่ระดับ 5.80% ในปี 61-65 และ 5.45% ในปี 66-70 ตามจำนวนประชากรที่ลดลง ทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามไปด้วย รวมทั้งการชะลอตัวลงของแรงงานและการลดลงของแรงงานที่ทำให้ขีดความสามารถในการผลิตลดลง เพราะสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ

.

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ประเทศไทย สศช.ได้ระบุถึงการบริหารจัดการที่ดีสู่ความเป็นธรรมของการพัฒนา โดยเฉพาะด้านการควบคุมคอร์รัปชั่น พบว่า แนวโน้มในอีก 20 ปีข้างหน้า รูปแบบและกระบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นจะหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ยากต่อการดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่นที่อาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนช่องว่างของกฎหมาย เพราะภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นของไทยยังเป็นปัญหาเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญกว่าในภูมิภาคเอเชีย

.

สศช.เห็นว่า ยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีข้างหน้า ต้องเน้นเสริมสร้างสังคมประชาธิปไตยตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และประเทศ สร้างความสมานฉันท์ เพิ่มบทบาทการดำเนินงานและการตรวจสอบโดยภาคประชาชนให้เข้มแข็ง สร้างระบบการเมืองที่มีจริยธรรม สร้างราชการที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาแก้ไขกฎระเบียบ และปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม