เนื้อหาวันที่ : 2008-08-07 08:30:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2328 views

กรีนพีซ ร้องรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน ร้อยละ 40 ภายในปี 2563

อาเซียนต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และทำหน้าที่เพื่อให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เพิ่มขึ้นจากระดับที่เป็นอยู่โดยการเลือกพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและขยายประสิทธิภาพทางพลังงานพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

 

ในวาระการประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งอาเซียนครั้งที่ 26 จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนแสดงความเป็นผู้นำ และเจตจำนงทางการเมืองที่จะให้คำมั่นสัญญาถึงอนาคตแห่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด แทนที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ของเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ที่สกปรก เป็นอันตรายและมีราคาแพง

.

อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันและถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้น ความมั่นคงทางพลังงานได้กลายมาเป็นประเด็นหลักที่สำคัญของอาเซียน แต่อาเซียนยังคงเน้นขยายส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ แทนที่จะให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการพัฒนาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาค

.

นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รัฐบาลในอาเซียนต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และทำหน้าที่เพื่อให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เพิ่มขึ้นจากระดับที่เป็นอยู่โดยการเลือกพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและขยายประสิทธิภาพทางพลังงาน ในขณะเดียวกัน การใช้พลังงานควรเพิ่มขึ้นอย่างสมดุลกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

.

ปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อรวมกันแล้ว จัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นลำดับที่สามรองจากจีนและอินเดีย อนาคตของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางการเมืองเป็นหลักจากทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศและตัวของอาเซียนเอง การที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความล่อแหลมมากที่สุดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาเซียนจำต้องสถาปนานโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงานที่ถูกต้อง การตัดสินใจทางนโยบายที่มีขึ้นในอีกสองสามปีข้างหน้าจะยังคงมีผลสะเทือนต่อไปจนถึงปี 2593

.

นายแจสเปอร์ อินเวนเตอร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซสากล กล่าวเสริมว่า ปีที่ผ่านมา กรีนพีซขอแสดงความยินดีที่อาเซียนได้ผนวกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงานให้เป็นประเด็นหลักของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานที่ประเทศสิงคโปร์ เรายังเห็นด้วยกับการตั้งเป้าหมายที่สูงส่งของอาเซียนที่จะเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคให้เป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2553 แต่เป็นเรื่องแย่ตรงที่คำประกาศดังกล่าวยังคงเป็นเพียงกระดาษ อาเซียนล้มเหลวที่จะแปรเปลี่ยนเป้าหมายดังกล่าวนั้นให้เป็นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่เกิดจริงในพื้นที่ และขณะนี้เวลาใกล้หมดลงแล้ว

.

เทสซา เดอ ริค ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่แย่ไปกว่านั้นคือบางประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ไทยและเวียดนามกำลังเต้นเร่าไปกับคำสัญญาอันบิดเบือนของกลุ่มอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และกำลังทำให้ประชาชนในภูมิภาคเผชิญกับเทคโนโลยีนิงเคลียร์ที่อันตรายโดยอ้างว่านิวเคลียร์จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและแก้ปัญหาโลกร้อน สามประเทศนี้ได้ลืมความจริงที่ว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีโดยเฉลี่ยกว่าจะแล้วเสร็จ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างก็สูงเพิ่มขึ้น ที่สำคัญไม่มีทางออกที่ปลอดภัยในการกำจัดกากนิวเคลียร์

.

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลในกลุ่มอาเซียนแสดงความเป็นผู้นำและตั้งเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและประสิทธภาพด้านพลังงาน และหาแนวทางในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหมาะสม ผู้นำอาเซียนจะต้อง ดำเนินการให้มีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดร้อยละ 10 ให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2553 ตั้งเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในสัดส่วนร้อยละ 40 ภายในปี 2563

.

ออกกฎหมายให้มีกลไกสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การประกันราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เนตมิเตอร์ พลังงานสีเขียว เป็นต้น เพื่อรับประกันและกระตุ้นการพัฒนาพลังงานหมนุเวียน รวมถึงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการเข้าถึงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าจากแผล่งพลังงานหมุนเวียน  ดำเนินการให้มีมาตรฐานด้านประสิทธิภาพพลังงานที่เข้มงวดรัดกุมกับอุปกรณ์ไฟฟ้า แสงสว่าง อาคารและยานยนต์  ห้ามการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด ละทิ้งจากมายาคติว่าด้วย "ถ่านหินสะอาด" และ "นิวเคลียร์" ว่าเป็นทางออกของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ