การออก 6 มาตรการทำให้รัฐบาลต้อง สูญเสียรายได้ถึง 46,000 ล้านบาท คาดว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จะช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นไปจนถึง 2 หลักอย่างที่คาดการณ์กันไว้ โดยคาดว่าทั้งปี 2551 เงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 9 และเชื่อว่าการดำเนินมาตรการครั้งนี้จะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3 - 0.5
. |
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีมหาดไทย ร่วมแถลง 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อไทยทุกคน (ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ตั้งแต่ ส.ค.2551 - ม.ค.2552 ) ทั้ง 6 มาตรการ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้รวม 49,404 ล้านบาท มาจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 32,000 ล้านบาท |
. |
มาตรการแรก คือการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ลงลิตรละ 3.30 บาท และลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และดีเซลบี 5 ลงลิตรละ 2.30 บาทและ 2.10 บาท ตามลำดับ มาตรการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม เป็นต้นไป |
. |
มาตรการนี้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 จากลิตรละ 3-5 บาท เป็นลิตรละ 7-9 บาท และทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตประมาณ 32,000 ล้านบาท |
. |
ส่วนที่จะมาชดเชยรายได้สรรพสามิตที่สูญเสียไป คือ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากผลของมาตรการ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่าครึ่งปีแรกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกินเป้าหมายประมาณ 9,600 ล้านบาท คาดว่าครึ่งปีหลังภาษีมูลค่าเพิ่มจะจัดเก็บได้เกินเป้าหมายใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก ซึ่งจะมาช่วยชดเชยรายได้ภาษีสรรพสามิตที่สูญเสียไปจากมาตรการนี้ได้บางส่วน |
. |
ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลประกาศ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้แก่ การชะลอปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG สำหรับภาคครัวเรือนไปอีก 6 เดือน, มาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้าของครัวเรือน โดยผู้ใช้น้ำประปาไม่เกิน 50 หน่วย และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากใช้ไฟฟ้า 80-150 หน่วยรัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง |
. |
มาตรการนี้จะครอบคลุมผู้ใช้น้ำประปา 3.2 ล้านราย ประหยัดได้เดือนละ 176-213 บาท และครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 9.85 ล้านราย ลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 120-200 บาทต่อครัวเรือน มาตรการช่วยค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า มีประมาณการค่าใช้จ่ายรวม 15,930 ล้านบาท โดยให้หักเป็นค่าใช้จ่าย จากรายได้นำส่งรัฐของการไฟฟ้า และการประปาซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ |
. |
นอกจากนี้ จะจัดรถโดยสารประจำทาง ขสมก.จำนวน 800 คัน (จากทั้งหมด 1,600 คัน )ใน 73 เส้นทาง ให้บริการในเขตกทม. และปริมณฑล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะจัดสรรงบกลางชดเชยรายได้ของขสมก.ประมาณ 1,244 ล้านบาท มาตรการให้ประชาชนเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุมผู้ใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 16 ล้านคน โดยภาครัฐจะจัดสรรงบกลางชดเชยรายได้ของรฟท.ประมาณ 250 ล้านบาท |
. |
นายสมัคร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับหลักการนำเข้าน้ำมันดีเซลราคาต่ำจากรัสเซีย เพื่อใช้ในต่างจังหวัด ในชนบท และเพื่อการประมง โดยจะขายผ่านสหกรณ์การประมง และสหกรณ์การขนส่งในต่างจังหวัดจำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ และขอยืนยันว่า จะไม่มีจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร หลังจาก ครม.อนุมัติในหลักการแล้วภายใน 15 วัน จะมีการจัดทำเอกสารเพื่อจัดซื้อ หลังจากนั้น 45 วัน ทางรัสเซียจะส่งน้ำมันมาทางเรือ และส่งไปตรวจสอบคุณภาพน้ำมัน เมื่อผ่านการตรวจสอบก็สามารถนำมาออกจำหน่ายตามหลักเกณฑ์ได้ |
. |
นายสมัคร ว่า 6 มาตรการจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงชั่วคราว หลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า 9 สาย และการขุดลอกคูคลอง ให้ออกมาเร็วขึ้น ซึ่งถือว่าจะเป็นการสร้างงานให้ประชาชน และเป็นการเพิ่มรายได้อีกทาง |
. |
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่าการออก 6 มาตรการทำให้รัฐบาลต้อง สูญเสียรายได้ถึง 46,000 ล้านบาท คาดว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จะช่วยชะลออัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นไปจนถึง 2 หลักอย่างที่คาดการณ์กันไว้ โดยคาดว่าทั้งปี 2551 เงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 9 และเชื่อว่าการดำเนินมาตรการครั้งนี้จะกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3 - 0.5 |