ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง คาดว่า รายได้ของบริษัทฯ ในปี 2551 จะยังคงเป็นไปตามประมาณการที่ได้วางไว้ ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนนั้น บริษัทฯ คาดหมายว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 3 ในสปป.ลาว ได้ในช่วงปลายปี 2552
|
. |
นายณรงค์ สีตสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) คาดว่า รายได้ของบริษัทฯ ในปี 2551 จะยังคงเป็นไปตามประมาณการที่ได้วางไว้ ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนนั้น บริษัทฯ คาดหมายว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 3 ในสปป.ลาว ได้ในช่วงปลายปี 2552 |
. |
บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น (Shareholder Agreement) เพื่อจัดตั้ง บริษัท น้ำงึม 3 พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งมีภารกิจในการบริหารและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 3 โดย RATCH ถือหุ้นในบริษัทฯ ดังกล่าว 25% |
. |
"แม้ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่บริษัทฯ ได้คาดการณ์ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบไว้แล้วก่อนหน้านี้และเป็นไปตามแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ทำให้ ยังคงเชื่อมั่นว่ารายได้ของบริษัทฯ ในปี 2551 จะยังคงเป็นไปตามประมาณการที่ได้วางไว้"นายณรงค์ กล่าว |
. |
RATCH ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ไตรมาส 2/51 มีกำไรสุทธิ 1,265.71 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.87 โดย ลดลง 874.76 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 50 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 2,140.47 ล้านบาท |
. |
สาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าขายไฟฟ้า 10,313.39 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.53 เนื่องจากรายได้ค่าความพร้อมจ่าย(Availability Payment) ของโรงไฟฟ้าราชบุรีในไตรมาส 2/51 ต่ำกว่าไตรมาส 2/50 จำนวน 301.11 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.92 ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ประกอบกับ ในไตรมาสนี้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมได้หยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์โรงไฟฟ้าตามแผนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน |
. |
นอกจากนั้น ด้านการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้าของไตรมาสนี้ 64.59 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 63.57 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ ได้รวมส่วนแบ่งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของกิจการร่วมค้าไว้ 277.19 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่รวมส่วนแบ่งขาดทุนดังกล่าว บริษัทฯ จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้าจำนวน 341.78 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.45 เท่า ซึ่งเป็นผลจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้ง 2 ชุด ของ บจ. ราชบุรีเพาเวอร์ รวม 1,400 เมกะวัตต์ |
. |
ปัจจัยหลักอีกประการที่เกี่ยวข้อง คือการที่บริษัทฯ รับรู้ค่าชดเชยการประกันภัยจากเหตุเพลิงไหม้บริเวณเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี 496.14 ล้านบาทในไตรมาส 2/50 ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติในช่วงดังกล่าว |