เนื้อหาวันที่ : 2008-07-30 21:39:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1257 views

ธปท.เผยปีนี้เอกชนชะลอลงทุนจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง-ต้นทุนสูง

ธปท.เผยผลสำรวจโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจจากผู้ประกอบการทั่วประเทศจำนวน 87 ราย ในช่วงไตรมาสที่ 2/51 พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังชะลอการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากยังขาดความมั่นใจในระหว่างที่ปัจจัยเสี่ยงหลายด้านยังมีอยู่ ทั้งต้นทุนการผลิตและราคาน้ำมันที่เร่งขึ้นต่อเนื่อง การเมือง จากการประท้วงรัฐบาลของกลุ่มต่างๆ

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดผลสำรวจโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจจากผู้ประกอบการทั่วประเทศจำนวน 87 ราย ในช่วงไตรมาสที่ 2/51 พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังชะลอการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากยังขาดความมั่นใจในระหว่างที่ปัจจัยเสี่ยงหลายด้านยังมีอยู่ ทั้งต้นทุนการผลิตและราคาน้ำมันที่เร่งขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความไม่แน่นอนการเมือง จากการประท้วงรัฐบาลของกลุ่มต่าง ๆ

.

ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้ายังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากการควบคุมราคาสินค้าบางรายการ นอกจากนั้นยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวลดลง ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์ของผู้บริโภคเริ่มชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากกำลังซื้อหดตัวจากภาวะค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น  ประกอบกับ มีความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเน้นซื้อสินค้าคุณภาพและคุ้มค่า

.

"ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า ต้นทุนประกอบการโดยเฉพาะราคาวัตถุดิบที่เร่งขึ้นได้สร้างแรงกดดันต่อราคาและลดกำไรของธุรกิจ นอกจากนั้นสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจอย่างมาก" รายงานระบุ

.

สำหรับแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนจะชะลอตัวลงอีกเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกนอกจากนั้น ผลการสำรวจล่าสุดเดือน พ.ค.ยังพบว่า มีการคาดการณ์แนวโน้มต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อในระยะ 12 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 50% คาดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 6% ขณะที่ 40% คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2550 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วตั้งแต่เม.ย.51 ที่มีการเร่งตัวราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ควบคู่ไปกับแรงกดันจากราคาน้ำมัน

.

ขณะที่ผู้ประกอบการ 90% ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และกว่า 40%จะได้รับผลกระทบอย่างมากในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งมีโอกาสสูงที่ผู้ประกอบการจะทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อชดเชยการปรับขึ้นของต้นทุนที่ผ่านมา