เนื้อหาวันที่ : 2008-07-23 11:48:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1452 views

ครม. อนุมัติแผนพลาสติกชีวภาพ 1,800 ล้านบาท สนช. ชี้โอกาสทองของไทยสู่อุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่

อุตสาหกรรมพลาติกชีวภาพ เป็นอุตฯ เพื่ออนาคตของประเทศไทยนั้น นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมไทย เพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีมูลค่าใหม่ที่สูงมากในภาคเกษตรกรรม พร้อมๆ กับการก่อเกิดอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับกระแสความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมโลก

ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า "ตามมติคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (22 ก.ค. 2551) ได้ให้ความเห็นชอบแผนที่นำทาง (road map) การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในระหว่างปี พ.ศ. 2551-2555 ภายในกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 1,800 ล้านบาท ตามที่ สนช. ได้นำเสนอ เพื่อให้อุตสาหกรรมพลาติกชีวภาพ เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตของประเทศไทยนั้น นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมไทย เพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีมูลค่าใหม่ที่สูงมากในภาคเกษตรกรรม พร้อมๆ กับการก่อเกิดอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับกระแสความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมโลก"

.

ดร. ศุภชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "การบริโภคพลาสติกซึ่งผลิตจากวัตถุดิบทางปิโตรเคมีทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ต่อปี คิดเป็นปริมาณ 200 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณการบริโภคของประชากรสูงถึง 80100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ความสามารถในการนำขยะพลาสติกหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 30 โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านตันต่อปี

.

ทำให้ปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตมาจากแป้งข้าวโพด ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตในตลาดโลกมากกว่าร้อยละ 30 ในขณะที่กำลังการผลิตในปัจจุบันมีเพียง 360,000 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 1 ของปริมาณพลาสติกที่ใช้ทั่วไป ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงในการที่จะผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพขึ้นอย่างครบวงจร"

.

"เนื่องจากประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านชีวมวล (biomass) และมีวัตถุดิบด้านการเกษตรที่มีศักยภาพทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ซึ่งประเทศไทยผลิตหัวมันสดเป็นอันดับ 3 ของโลก และส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีกำลังการผลิตหัวมันสดได้ประมาณ 27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าที่ได้ในปัจจุบันประมาณ 61,000 ล้านบาท แต่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 10 เท่า เมื่อนำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่มีแหล่งวัตถุดิบจากแป้งมันสำปะหลัง จะทำให้ได้กำไรหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว มากกว่าการลงทุนสร้างโรงงานมันเส้นถึง 21.4 เท่า หรือเท่ากับมีการสร้างรายได้ใหม่มากถึง 144,180 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผลประโยชน์ที่ประเทศได้จากการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม" ดร. ศุภชัยฯ กล่าว

.

ดร. วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการนวัตกรรม สนช. กล่าวว่า "โครงการนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพเป็นหนึ่งในโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่ สนช. ได้วิเคราะห์สถานการณ์ระดับโลกและปัจจัยการผลิตที่เข้มแข็งของประเทศไทย จึงได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเป็นโครงการระดับชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง และเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลังหรือน้ำตาล

.

ซึ่งที่ผ่านมา สนช. ได้มีบทบาทในการริเริ่มส่งเสริม ผลักดัน และรวบรวมข้อมูลด้านพลาสติกชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง และจากมติจากคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบที่จะให้การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อยู่ในแผนปฏิบัติการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ให้ทันต่อกระแสความต้องการของตลาดโลก และเป็นการสร้างศักยภาพให้เกิดความสามารถในการแข่งขันจากข้อได้เปรียบของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคนี้ในอีก 15 ปีข้างหน้า"

.

แผนที่นำทางสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยที่ได้พัฒนาขึ้นประกอบด้วยกลยุทธ์การดำเนินงานใน 4 ด้าน ในระยะเวลา 5 ปี ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบชีวมวล กลยุทธ์ที่ 2 การเร่งรัดและสร้างเทคโนโลยี กลยุทธ์ที่ 3 การสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรม และกลยุทธ์ที่ 4 การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้แผนแผนที่นำทางฯ นี้ใน 3 ด้าน คือ (1) เชิงเทคโนโลยี ได้แก่ การมีเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพของประเทศขึ้นเอง และเกิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ

.

โดยคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 500 ล้านบาท (2) เชิงธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่การเกิดธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าการลงทุนถึง 3,000 ล้านบาท และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์สูงถึง 1,500 ล้านบาท และ (3) เชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นถึงการตระหนักถึงการใช้พลาสติกชีวภาพเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกิดค่านิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาขยะพลาสติก หรือปัญหาที่เกิดจากมลพิษในการเผาขยะที่ย่อยสลายไม่ได้สูงถึง 500 ล้านบาท