เนื้อหาวันที่ : 2008-07-16 17:05:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2879 views

กรีนพีซ ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินขยายตัวเพิ่มมากขึ้น วอนหยุดใช้ถ่านหินหนุนพลังงานหมุนเวียน

เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ รณรงค์คัดค้านการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดระยองจอดเทียบท่า ต่อต้านขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย จนกว่าจะมีการพิจารณาถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

.

หลังจากการรณรงค์ของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ เพื่อคัดค้านการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดระยอง ส่งผลให้นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาและตัวแทนคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลฯ วุฒิสภา ออกโรงร่วมแถลงไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่-วัน และวิจารณ์นโยบายด้านพลังงานกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (PDP) ของรัฐบาลพร้อมผลักดันให้มีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในประเทศไทย

.

บริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าเก็คโค่ได้ออกแถลงการณ์และยืนยันว่าโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้สะอาดและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งๆที่ข้อเท็จจริงคือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดถึงแม้เราจะนำไปผ่านกระบวนการใด ๆ ก็ตาม แม้แต่การดักจับคาร์บอนหรือฝังกลบในใต้ดิน ก็ยังไม่สามารถกำจัดความสกปรกและสารพิษของถ่านหินได้ วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างของผู้สนับสนุนถ่านหินเท่านั้น ถ่านหินยังทำลายสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบด้านสารพิษไปยังชุมชน แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่อีก 31 โรง

.

การเผาไหม้ถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดหลักของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ และเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ่านหินปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหนึ่งหน่วยพลังงานมากกว่าน้ำมันถึง 29 % และมากกว่าก๊าซถึง 80% โรงไฟฟ้าถ่านหินของโกลว์ที่มีอยู่เดิมนั้นได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 4,003,432 ตันต่อปี

.

.

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา  กล่าวถึงกระบวนการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยว่า "การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่-วันจะต้องหยุดดำเนินการทันที จนกว่าจะมีการพิจารณาถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์"

.

นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และคณะทำงานในคณะอนุกรรมาธิการธรรมภิบาลวุฒิสภา กล่าวถึงข้อบกพร่องของแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (PDP) ว่ามีเพียงแผนพัฒนาด้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ รวมทั้งสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

"เราต้องการ.เห็นรัฐบาลเป็นผู้ปูทางพลังงานหมุนเวียนให้แก่อนาคตของประเทศ เราต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนการใช้งบประมาณเพื่อผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ เพื่อมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและประสิทธิภาพพลังงานยกร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนด้วยผลตอบแทนที่มั่นคงและสามารถคาดการณ์ได้ เพื่อรับประกันว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะได้รับความสำคัญในการเข้าถึงสายส่งไฟฟ้าก่อน และการยกร่างให้มีมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานที่เข้มงวด"

.

.

"และโครงการการจัดการด้านความต้องการไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันได้ เพียงแต่รัฐบาลลดละเลิกการอุดหนุนถ่านหินและนิวเคลียร์และแนะนำถึง หลักการผู้มลพิษต้องจ่าย ที่ผ่านมาพลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์นั้นได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ราว 250 พันล้านเหรียญต่อปี เราควรเปลี่ยนแปลงการลงทุนดังกล่าวนั้นมาให้กับแหล่งพลังงานที่จะช่วยเรายุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย" นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

.

พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลม สามารถและจะมีบทบาทนำในอนาคตพลังงานของโลก ไม่ใช่เรื่องอุปสรรคทางเทคนิคแต่เป็นอุปสรรคทางการเมืองที่ได้กีดขวางการเปลี่ยนแปลงนี้ ขึ้นอยู่รัฐบาลของเราที่จะใช้โอกาสเพื่อผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ดำเนินต่อไปลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากภายนอก เพิ่มการจ้างงาน สร้างสังคมที่มั่นคงและมีส่วนสำคัญในการต้านสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตรายของโลก

.

หลังจากการณรงค์ในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ได้มุ่งหน้ามายังประเทศไทยเพื่อรณรงค์ หยุดถ่านหิน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงานซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนทางออกเพื่อกู้วิกฤตโลกร้อน นั่นคือ การปฏิวัติพลังงานซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่เส้นทางพลังงานหมุนเวียนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสันติภาพ กรีนพีซ ทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ

.