เนื้อหาวันที่ : 2006-02-16 09:10:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3828 views

ยอดจองนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้เต็มล้นหลาม

นิคมอุตสาหกรรมมหาราชนคร เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมฟอกย้อม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง บนเนื้อที่ 140 ไร่ มีมูลค่าการลงทุน 400 ล้าน

นายอุทัย จันทิมา ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กนอ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในด้านการส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี

ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังคงมีการขยายการลงทุนตามแผนเดิม โดยขณะนี้ กนอ.อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่ลงทุนในเฟสที่ 2 อีก 300-400 ไร่ คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาคใต้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยาง การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเปิดให้จองพื้นที่ลงทุนได้ภายในปี 2549นี้ 

แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พบว่าภาวะการลงทุนยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในส่วนการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจาก พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยางดิบที่ไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก และอุตสาหกรรมอาหาร ประเภทอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งยังคงมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  

ในส่วนความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งพัฒนาโดย บริษัทฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด บนพื้นที่ 900 ไร่ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานในนิคม โดยกรมทางหลวงเป็นผู้รับเหมาในเรื่องการก่อสร้างถนน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการจัดจ้างออกแบบ และเปิดให้รับเหมาเข้ามาดำเนินงานได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้เตรียมก่อสร้างวางท่อส่งน้ำมายังนิคมอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว สำหรับเรื่องการให้บริการข้อมูลข่าวสาร คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการให้กับกลุ่มนักลงทุนทั้งชาวไทย และต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในนิคมดังกล่าวได้ภายในสิ้นปีนี้  ภายใต้ชื่อนิคมอุตสาหกรรมมหาราชนคร เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมฟอกย้อม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง บนเนื้อที่ 140 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนพัฒนาโครงการจำนวน 400 ล้านบาท

โดยปัจจัยหลักเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสมทางด้านภูมิศาสตร์และสามารถกำกับดูแลในด้านของสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีมาตรฐาน สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการเคลื่อนย้ายโรงงานประเภทดังกล่าวไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม