เนื้อหาวันที่ : 2008-07-08 10:55:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2330 views

มองมุมดี...กับการบริหารงานบุคคล

หลายๆ องกรมักประสพพนักงานที่สนใจงานขยันหมั่นเพียร และพนักงานเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ทำบ้าง เกเร มาสาย ลากิจเป็นประจำ ขาดความเอาใจใส่ต่องานที่ได้รับมอบหมาย

ผู้บริหารในหลายๆ องค์กรมักจะต้องประสบพบเจอกับพนักงานที่มีทั้งประเภทสนใจงานขยันหมั่นเพียร ตั้งใจทำงานอย่างสม่ำเสมอ และพนักงานประเภทเรื่อยๆ มาเรียงๆ ทำบ้าง เกเรบ้างหลบหลีกเลี่ยงงาน มาสาย ลากิจเป็นประจำ ขาดความเอาใจใส่ต่องานที่ได้รับมอบหมาย สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติที่ผู้บริหารจะต้องรู้จักส่งเสริมและรักษาพนักงานที่ดี และพัฒนาพนักงานที่ยังไม่ก่อประโยชน์ให้แก่องค์กรเท่าที่ควรจะเป็น ให้กลับมาเป็นทรัพยากรที่มีค่าขององค์กรไป

.

.

สำหรับวิธีการพัฒนานั้น ก็มีหลายรูปแบบ ทั้งการอบรม เสริมความรู้ การกำหนดกฎเกณฑ์บังคมให้ปฏิบัติงานตามที่กำหนด อาทิ ผลงาน/ชั่วโมง/วัน การกำหนดบทลงโทษ เมื่อไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ สิ่งเหล่านี้มักเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หากหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่จะพัฒนาได้ผู้บริหารมักจะเลือกวิธีการให้ออก และรับคนใหม่เข้ามา ปัจจุบันการเข้า-ออกของพนักงานในแต่ละองค์กรจึงมีอัตราสูงขึ้น เนื่องจากสถานประกอบการต้องรีบเร่งแข่งขันไม่มีเวลาเอาใจใส่พนักงานได้มากเท่าที่ควร ทำให้ต้องสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการสรรหาและอบรมพนักงานใหม่ๆ อยู่เสมอๆ

.

นับเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจการส่วนหนึ่ง ดังนั้นหากผู้บริหารงานบุคคลมีมุมมองที่ดีในการพิจารณา จุดเด่น จุดด้อยของพนักงานอย่างลึกซึ้ง และรู้จักเลือกใช้ลักษณะเด่นของพนักงาน โดยให้โอกาสมอบหมายงานที่เหมาะสมให้กับเขารู้สึกพึงพอใจมีความสุขกับงานที่ทำและกระตุ้นให้เขาเห็นถึงคุณค่าของงาน การยอมรับของเพื่อนร่วมงาน ความก้าวหน้าในงานที่ทำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้องค์กรได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าสร้างประโยชน์ต่อองค์กรอย่างยั่งยืน และเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยประหยัดต้นทุนให้แก่องค์กร

.

ประเด็นสำคัญผู้บริหารงานบุคคล ต้องเป็นผู้ที่มีมุมมองที่ดี กว้างไกล เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมี ดี เลว ประกอบกัน การรู้จักเลือกสรรพิจารณาส่วนดีของแต่ละคนขึ้นมาเป็นแรงสร้างสรรค์ผลงาน การให้อภัยในส่วนที่ทำได้และรู้จักแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากร  ดึงพลังที่ซ่อนเร้นของพนักงานออกมาใช้ประโยชน์ ให้เกียรติและโอกาสเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ รวมทั้ง สร้างความสุขในการทำงานเกิดมิตรภาพที่ดีในองค์กร ทั้งระหว่างผู้บริหาร และหมู่พนักงาน โดยยึดหลักของท่านพุทธทาสที่กล่าวไว้ดังนี้

.

เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา

จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่

เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู

ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย

จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว

อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย

เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย

ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง

.

นับเป็นแนวคิดที่ดีที่ช่วยผู้บริหารงานบุคคลเกิดมุมมองที่ดี มีความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ และรู้จักเลือกใช้จุดเด่นของแต่ละคนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรได้ในที่สุด