กรีนพีซ เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศที่กำลังประชุมที่ญี่ปุ่นผลักดันแนวทางเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกมิให้เพิ่มมากไปกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องเป็นผู้นำและให้คำมั่นในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2563
|
. |
กรีนพีซ เรียกร้องให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 8 (G8) ลงมือทำอย่างแข็งขันเพื่อต้านสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และชี้ให้เห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เช่น ประเทศไทยได้เผชิญกับผลกระทบอันเลวร้ายในเรื่องนี้ อันเนื่องมาจากการไม่สนใจใยดีของประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย |
. |
ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงที่สุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่และสาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำซึ่งเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศในปัจจุบันในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 กลุ่มประเทศเหล่านี้ยังเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าร้อยละ 40 ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด ทั้งๆ ที่มีประชากรรวมกันเพียงร้อยละ 13 ของประชากรโลก และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องรับผลกระทบอันร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นน้ำทั้ง 8 ที่จะให้พันธะสัญญาในทางกฎหมายเพื่อต้านสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
. |
นักกิจกรรมของกรีนพีซจากเรือเรนโบว์วอริเออร์ได้กางป้ายผ้าข้อความว่า "จีแปด หยุดโลกร้อน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน (G8 Stop Climate Change – Lead the Energy Revolution) ณ รูปปั้นเงือกทองที่ชายหาดสมิหลาของจังหวัดสงขลา พื้นที่ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยพื้นที่หนึ่งที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล |
. |
ภายใต้การคาดการณ์ที่ธรรมดามากที่สุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC 2007, 4th Assessment Report WG2) ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นมากกว่าระดับที่อยู่ในปัจจุบันราว 40 เซนติเมตรภายในสิ้นศตวรรษที่21 นี้ และคาดว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมที่ลุ่มชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ราว 13-94 ล้านคน โดยสัดส่วนของกลุ่มประชากรดังกล่าวราวร้อยละ 60 จะอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ ในขณะที่ประชากรในสัดส่วนร้อยละ 20 จะอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะจากประเทศไปจนถึงเวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ |
. |
การประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศหรือ G8ได้ก่อตั้งในปี 2518 เพื่อตอบรับกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่เพิ่มเข้ามาในการประชุมสุดยอดเมื่อไม่นานมานี้ ในปี 2543 กลุ่ม G8 ได้เสนอโครงการสนับสนุนเพื่อเร่งรัดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนแต่ไม่เคยมีการติดตามผลแต่อย่างใด |
. |
มาไรกา บริทเทน เจ้าหน้าที่รณรงค์ของกรีนพีซสากลซึ่งประจำอยู่บนเรือเรนโบว์วอริเออร์ กล่าวว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและถ่านหิน ประกอบกับความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่ทำให้อนาคตซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเป็นหนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรับประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จะต้องไม่มีการสนับสนุนถ่านหินเพราะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าถ่านหินสะอาด ผู้นำ G8 และธนาคารโลกจะมีการประกาศกองทุนปกป้องสภาพภูมิอากาศใหม่ที่เมืองโทยาโกบนเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่น |
. |
กองทุนนี้ไม่ได้ให้คำนิยามถึง "เทคโนโลยีสะอาด" ที่ชัดเจนที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมต้องการสนับสนุน ดังนั้น กลุ่ม G8 จึงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไม่ใช่ทางออก และกองทุนดังกล่าวนี้ท้ายที่สุดแล้วก็จะนำไปอุดหนุนทางเลือกพลังงานที่สกปรกที่สุดนั่นคือ ถ่านหิน การอุดหนุนให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาโลกร้อนคือความบ้าคลั่ง กรีนพีซ ชุมชนในเอเชียและกลุ่มประชาสังคมต่างๆ มีจุดยืนร่วมกันในการคัดค้านกองทุนนี้ |
. |
กรีนพีซเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศที่กำลังประชุมที่ญี่ปุ่นผลักดันแนวทางเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกมิให้เพิ่มมากไปกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ประเทศอุตสาหกรรมจะต้องเป็นผู้นำและให้คำมั่นในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2563 และร้อยละ 80-90 ภายในปี 2593 จากระดับการปล่อยในปี 2533 |
. |
หลังจากการรณรงค์ที่ประสบผลสำเร็จในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ ขณะนี้เรือเรนโบว์วอริเออร์อยู่ในประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนงานรณรงค์ หยุดถ่านหิน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน การเดินทางรณรงค์ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเลวร้ายจากภาวะโลกร้อน นั่นคือการปฏิวัติพลังงานซึ่งวางรากฐานอยู่บนการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่อรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานและสันติภาพ |