รมว.พลังงาน เผยปริมาณการใช้น้ำมันในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเก็งกำไรและเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน โดยปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลลดลงประมาณ 14% ของยอดการใช้น้ำมันทั้งหมด
พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เผยปริมาณการใช้น้ำมันในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเก็งกำไรและเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน โดยปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลลดลงประมาณ 14% ของยอดการใช้น้ำมันทั้งหมด |
. |
ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันลดลงแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนก็มีเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ และก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งขณะนี้ไม่มีปัญหาขาดแคลนแล้ว หลังมีการนำเข้าถังขนถ่ายเอ็นจีวีเป็นจำนวนมาก |
. |
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ภาครัฐจะรณรงค์ให้มีการใช้ก๊าซแอลพีจีเฉพาะภาคครัวเรือนเท่านั้น แต่อาจให้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้มากกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด พร้อมทั้งเตือนประชาชนที่นำถังแอลพีจีที่ใช้ในครัวเรือนมาติดตั้งในรถยนต์อาจเกิดความไม่ปลอดภัย |
. |
ด้าน นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น แต่ขณะนี้มีผู้ประกอบการภาคขนส่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดต้องจ่ายค่าน้ำมันเป็นเงินสด |
. |
สำหรับความกังวลด้านปัญหาเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มระมัดระวังตัว ทั้งนี้คาดจีดีพีภาคอุตสาหกรรมครึ่งปีหลังจะขยายตัวประมาณ 4-5% ใกล้เคียงกับการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคประชาชน ขณะที่เศรษฐกิจครึ่งปีหลังก็คาดจะขยายตัวประมาณ 5% เช่นกัน |
. |
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำมันแพง ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งจะส่งผลกระทบให้อุตสากรรมต่อเนื่องชะลอตัวลงไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งรัดโครงการเมกะโปรเจคต์ให้เร็วขึ้น และลดภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัททั่วไปให้เหลือ 25% จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 30% |