เนื้อหาวันที่ : 2008-07-04 10:52:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2231 views

เจพีมอร์แกน ฟันธงไครสเลอร์เสี่ยงล้มละลาย เหตุราคาน้ำมันพุ่ง-ศก.สหรัฐทรุด

ไฮแมนชู พาเทล นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกนได้ออกมาฟันธงสวนทางเมอร์ริล ลินช์ว่า บริษัทรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐที่จะต้องยื่นเรื่องล้มละลายในอนาคตคือ ไครสเลอร์ ไม่ใช่เจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง

ไฮแมนชู พาเทล นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกนได้ออกมาฟันธงสวนทางเมอร์ริล ลินช์ว่า บริษัทรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐที่จะต้องยื่นเรื่องล้มละลายในอนาคตคือ ไครสเลอร์ ไม่ใช่เจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง และการที่ตลาดสหรัฐให้ความสนใจรถบรรทุกน้อยลง

.

อย่างไรก็ตาม พาเทลคาดว่า บริษัทคู่แข่งของไคร์สเลอร์ อาทิ เจนเนอรัล มอเตอร์ และฟอร์ด จะสามารถฟันฝ่าภาวะซบเซาในตลาดรถยนต์สหรัฐไปได้ และจะสามารถทำกำไรได้ในปีพ.ศ.2553 ทั้งนี้ พาเทลปฏิเสธการประเมินก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า จีเอ็มจะล้มละลาย โดยเขากล่าวกับนักลงทุนและสื่อมวลชนในที่ประชุมว่า ตลาดวิตกกังวลกับเรื่องนี้มากเกินไป

.

การแสดงความเห็นของพาเทลมีขึ้นหลังจากราคาหุ้นจีเอ็มดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 54 ปี ภายหลังจากนายจอห์น เมอร์ฟี นักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า มีความเป็นได้ที่จีเอ็มจะล้มละลาย หากตลาดรถยนต์สหรัฐยังทรงทรุดตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจีเอ็มอาจต้องระดมทุนเป็นวงเงินสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

.

เมื่อคืนนี้ ราคาหุ้นจีเอ็มพุ่งขึ้น 1.4% ปิดที่ 10.12 ดอลลาร์ ก่อนที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กจะปิดทำการในวันศุกร์ที่ 4 ก.ค.เนื่องในวันชาติสหรัฐ พาเทลระบุว่า สถานการณ์ของบริษัทไครสเลอร์อยู่ในระดับที่อันตรายมากขึ้น เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ที่จำกัดจนถึงขั้นต้องระดมเงินสด นอกจากนี้ ไครสเลอร์ที่พึ่งพาการผลิตรถบรรทุกและตลาดรถยนต์ในตลาดอเมริกาเหนืออย่างมาก ทำให้สถานการณ์เช่นนี้ดึงราคาหุ้นไครสเลอร์ ดิ่งลง 22% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

.

ที่ผ่านมานั้น ไครสเลอร์แทบจะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านการเงินนับตั้งแต่บริษัทเซอร์เบรัส แคปิตอล เมเนจเมนท์ เข้าซื้อกิจการไครสเลอร์เมื่อปีที่แล้ว แต่พาเทลประมาณการว่า ไครสเลอร์จะขาดทุนอย่างหนักถึง 4 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งจะบีบให้บริษัทยื่นขอคุ้มครองจากการล้มละลาย หรือขายธุรกิจบางส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีพ.ศ.2552 หากอุตสาหกรรมรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น

.

พาเทลกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ผลประกอบการของไครสเลอร์ แต่ระบุว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ในเกาหลีใต้และจีน ต้องการฮุบเครือข่ายจัดจำหน่ายรถยนต์ของไครสเลอร์ พร้อมกล่าวว่าการยื่นขอคุ้มครองจากการล้มละลายของไครสเลอร์จะส่งผลกระทบต่อบริษัทเซอร์เบรัสซึ่งลงทุนในไครสเลอร์ราว 6.1 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการ

.

ด้าน เดวิด เอลชอฟฟ์ โฆษกไครสเลอร์ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทอม ลาซอร์ดา ประธานและรองประธานไครสเลอร์ ออกมาปฏิเสธข่าวที่ว่าบริษัทเซอร์เบรัสวางแผนที่จะขายกิจการไครสเลอร์

.

พาเทลคาดการณ์ว่า จีเอ็มจะขาดทุนราว 6.9 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ.2551 และขาดทุน 4.3 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ. 2552 เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในสหรัฐทรุดตัวลงอย่างหนัก และเนื่องจากตลาดสหรัฐนิยมรถบรรทุกและรถยนต์อเนกประสงค์น้อยลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีเอ็มจะสามารถกลับมาทำกำไรได้ราว 2.3 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ.2553

.

พาเทลระบุว่า จีเอ็มมีเงินสดอยู่ในมือราว 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีเครดิตราว 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงไม่จำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มในทันที อย่างไรก็ตาม พาเทลคาดว่า จีเอ็มอาจจะระดมทุนราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ปีนี้

.

ก่อนหน้านี้ เมอร์ฟี นักวิเคราะห์ของเมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า จีเอ็มอาจต้องระดมทุน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมเตือนว่าการระดมเงินทุนของจีเอ็มอาจจะทำได้ลำบากเนื่องจากตลาดทุนตกอยู่ในภาวะตึงตัว แต่พาเทลระบุว่าจีเอ็มจะสามารถระดมทุนได้ไม่ยาก นอกจากนี้ พาเลทกล่าวว่า สถานะด้านการเงินของบริษัทฟอร์ดอยู่ในระดับที่ดี และจะสามารถฟันฝ่าภาวะซบเซาในตลาดรถยนต์ได้ อีกทั้งเชื่อว่าฟอร์ดสามารถทำกำไรในปี 2553 เช่นกัน

.

อย่างไรก็ตาม อารอน แบร็กแมน นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์จากบริษัทโกลบอล อินไซท์ กล่าวว่า "มุมมองของนักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทที่มีต่อบริษัทรถยนต์กลุ่ม "บิ๊กทรี" ของสหรัฐนั้น ค่อนข้างจะหลากหลาย เนื่องจากตลาดรถยนต์ตกอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน แผนการทำกำไรของบริษัทล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นและราคาน้ำมันจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้" ถึงกระนั้น แบร็กแมนกล่าวว่า การล้มละลายไม่ใช่ทางออกของบริษัทผลิตรถยนต์สหรัฐ สำนักข่าวเอพีรายงาน