เนื้อหาวันที่ : 2008-07-02 08:42:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1363 views

วิทยาลัยร่วมด้านพลังงานฯ ชี้ไทยต้องเพิ่มประสิทธิภาพรถยนต์ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงกว่า 3 หมื่นล้าน

วิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ชี้ภาคขนส่งไทยด้อยประสิทธิภาพ ใช้พลังงานมากเกินจำเป็น 38% ของพลังงานทั้งหมด เผยอีก 15 ปีข้างหน้ามีมาตรการใช้พลังงานภาคขนส่งช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 5.2% รวมกับเปลี่ยนมาใช้รถไฮบริด

.

นศ. JGSEE ระบุภาคขนส่งไทยด้อยประสิทธิภาพ ใช้พลังงานมากเกินจำเป็น ประมาณ 38% ของพลังงานทั้งหมด เผยในอีก 15 ปีข้างหน้าหากมีมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเฉพาะในภาคขนส่งช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 5.2% รวมกับเปลี่ยนมาใช้รถไฮบริด ลดได้อีก 0.7% ลดการนำเข้าน้ำมันได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี ชี้ภาครัฐต้องร่วมมือบริษัทผลิตรถยนต์ ปรับปรุงอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันให้ดีขึ้น เพิ่มมาตรการจูงใจรถยนต์ไฮบริด อีโคคาร์ และพลังงานทางเลือกที่ผลิตได้ในประเทศ

 .

ในสถานการณ์น้ำมันแพงเช่นนี้ แม้ภาคอุตสาหกรรมจะเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด หากแต่ภาคส่วนที่เดือดร้อนและได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับเป็นภาคการคมนาคมขนส่ง เนื่องจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชน เนื่องจากทุกวันนี้คนไทยใช้พลังงานในภาคขนส่งปีละประมาณ 38-40% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการพัฒนาด้านระบบขนส่ง เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฝรั่งเศส ที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานในภาคขนส่งต่ำกว่าประเทศไทยมาก นั้นแสดงให้เห็นถึงการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพของคนไทย

 .

นายจักรพงศ์ พงศ์ธไนศวรรย์ นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้พลังงานสูง สาเหตุหนึ่งมาจากระบบขนส่งหลักของประเทศเป็นระบบขนส่งทางถนนที่มีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าระบบขนส่งแบบราง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับปรุงแก้ไขสัดส่วนการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้ลดลงจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆจะลดลงตามไปด้วย

 .

ด้วยเหตุนี้ นายจักรพงศ์จึงได้ทำการวิจัยเรื่อง "ผลของการลดการใช้พลังงานในภาคขนส่งทางถนนจากทางเลือกของเทคโนโลยีของยานพาหนะต่าง ๆ และการจัดการระบบขนส่ง" เพื่อหาแนวทางการลดปริมาณการใช้พลังงานในภาคขนส่งทางถนน โดยมี ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา "แนวทางหลักสำหรับการลดปริมาณการใช้พลังงานในภาคขนส่ง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยเฉพาะในระบบขนส่งทางถนนให้ดีขึ้น ซึ่งจากการศึกษาสามารถสรุปทางเลือกได้ 3 ทาง

 .

ได้แก่ การปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีพาหนะที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น เช่น รถยนต์ไฮบริด อีโคคาร์ รถยนต์ไฟฟ้า การใช้พลังงานทางเลือกที่มีอยู่ในประเทศ เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือการเลือกใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าและขนส่งพลังงาน และสุดท้ายคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง จากระบบถนนที่มีประสิทธิภาพต่ำ มาใช้ระบบรางที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เช่น การขนส่งสินค้าด้วยระบบรางรถไฟ จูงใจให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นระบบรางให้มากขึ้น" นายจักรพงศ์ กล่าว

 .

จากการวิเคราะห์การใช้พลังงานในลักษณะต่างๆ ระหว่างปี พ.ศ.2548 2563 โดยใช้โปรแกรม LEAP (Long-range Energy Alternative Planning System) พบว่าหากไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานในทุกๆ ด้าน จะทำให้มีอัตราการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 6.25% ต่อปี แต่หากมีการกำหนดมาตรฐานอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงขั้นต่ำของรถยนต์ใหม่ที่จะขายให้ดีขึ้นประมาณ 10-15% จะช่วยลดการใช้พลังงานได้ประมาณ 5.2% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในช่วงปีนั้น ๆ

 .

และหากมีการใช้รถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้นในแต่ละปีจนมีสัดส่วนของยอดจำหน่ายคิดเป็น 15% ของรถยนต์ส่วนบุคคลใหม่ตั้งแต่ปี  2553 จะช่วยลดการใช้พลังงานได้ 0.7% ของการใช้พลังงานทั้งหมด  ซึ่งจะช่วยลดมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงได้ปีละกว่าสามหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี การเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติกลับทำให้การใช้พลังงานโดยรวมในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1% ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมด

 .

เนื่องด้วยประสิทธิภาพการใช้พลังงานของรถยนต์ถูกดัดแปลงมาใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้มีประสิทธิภาพลดลงเฉลี่ยประมาณ 8 – 10% แต่ข้อดีของการใช้ก๊าซธรรมชาติคือเป็นเชื้อเพลิงภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 2.6% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาทต่อปี

 .

นายจักรพงศ์ กล่าวอีกว่า นโยบายที่ใช้เพื่อสนับสนุนให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพรถยนต์ใหม่ มี 2 แนวทาง โดยอาจเริ่มจากการสร้างมาตรการจูงใจให้ผู้ซื้อรถยนต์ ด้วยการติดฉลากรถยนต์ (car labeling) ที่มีลักษณะคล้ายกับการติดฉลากเบอร์ 5 ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งการติดฉลากรถยนต์จะวัดตามเกณฑ์อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจให้กับผู้ซื้อ เมื่อมีมาตรการจูงใจแล้วขั้นถัดไปคือการออกมาตรการบังคับผู้ผลิตรถยนต์

.

โดยรถยนต์ที่สามารถขายได้ในประเทศต้องมีอัตราการสิ้นเปลืองไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกจากแหล่งพลังงานในประเทศนั้น ขณะนี้ ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทางเลือกได้แก่ แก๊สโซฮอล์ E10 E20 E85 และไบโอดีเซล B5 ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกดังกล่าว จะต้องกำหนดนโยบายให้แน่นอนในระยะยาว เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์ที่สามารถรองรับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกดังกล่าวได้

 .

โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ E20 ขึ้นไป ส่วนการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์จะต้องคำนึงถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งก๊าซ ได้แก่ ท่อส่งก๊าซ และสถานีเติมก๊าซ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้มีมูลค่าสูงมากจึงต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ และอุปกรณ์ดัดแปลงระบบจ่ายเชื้อเพลิงในรถยนต์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด

 .

ทั้งนี้ ข้อมูลการลดการใช้พลังงานโดยการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งจากระบบถนนเป็นระบบรางอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณการใช้พลังงานได้ระดับหนึ่ง และหากมีนโยบายเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริง ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในประเทศจะลดลง ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมขนส่งได้ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับประเทศ

 .

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)