กระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญทางด้านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว ยังได้นำเอาเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้งานมากมายและควบคุมการผลิตโดยช่างผู้ชำนาญการ
หากเรามองถึงแหล่งการพัฒนา และความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมนั้น ผมเชื่อว่าหลาย ๆ ท่าน คงจะนึกภาพเห็น หรือให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมืองหลวงหรือเขตปริมณฑลเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ลืมไปว่าอุตสาหกรรมในเขตภูมิภาคนั้นก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ที่จะเป็นเฟืองจักรอันสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้รุดหน้าไปได้ ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายแห่งในท้องถิ่นต่าง ๆ มีศักยภาพในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ สามารถส่งออกแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในตลาดโลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ เช่นกัน |
. |
. |
สำหรับคอลัมน์ Plant Tour ฉบับนี้ เราจึงมาไกลกันถึงจังหวัดชัยนาทเลยทีเดียว โดยทีมงานได้รับเชิญจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมเดินทางเยี่ยมชมการผลิตของ บริษัท เซฟ-ที-คัท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องตัดไฟ เซฟ-ที-คัท เจ้าของสโลแกนที่ว่า ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด ที่หลายท่านคงจะคุ้นเคยกัน |
. |
บริษัท เซฟ-ที-คัท (ประเทศไทย) จำกัด |
ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 ภายใต้การบริหารงานโดย ดร.ชวาล โสตถิวันวงศ์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นผลิตเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ เซฟ-ที-คัท “ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด” เดิมนั้นคุณชวาลทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อโฆษณา แต่เนื่องจากประสบเหตุว่าพนักงานบริษัทที่ไปติดตั้งป้ายโฆษณาถูกไฟฟ้าดูด จึงเกิดความมุ่งมั่นที่จะคิดค้นอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้า จากจุดนั้น ได้ใช้เวลาศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 3 ปี ในที่สุดก็ได้ผลิตเครื่องตัดไฟเครื่องแรกขึ้นภายในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า SAFE-T-CUT |
. |
. |
ขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ |
ภายใต้การดำเนินงานการผลิตของบริษัทนั้น จะแบ่งโซนการผลิตเป็น 2 โซนด้วยกันคือ โซนชั้นล่างของตัวโรงงาน จะเป็นส่วนการผลิตของกระบวนการขึ้นรูปโลหะซึ่งจะใช้ทำเป็นส่วนโครง (Case) ของตัวสินค้า เช่น เครื่องตัดไฟอัตโนมัติ ไฟฉุกเฉิน ตู้ควบคุมวงจรไฟฟ้า หรือเบรกเกอร์ เป็นต้น ส่วนในโซนชั้นบนจะเป็นส่วนของการผลิตชิ้นส่วนภายในที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยในส่วนของกระบวนการขึ้นรูปโลหะนี้จะแบ่งเป็น 2 แผนกด้วยกัน คือ
|
. |
. |
. |
แผนกขึ้นรูปโลหะ ส่วนของแผนกขึ้นรูปโลหะนี้จะแบ่งขั้นตอนการทำงานออกเป็น 11 ขั้นตอนด้วยกัน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการตัดเหล็ก (Shearing) ผ่านกระบวนการเจาะ (Punching) เข้าสู่กระบวนการปั๊มขึ้นรูป (Pressing) เมื่อเสร็จจากกระบวนการนี้แล้วพนักงานจะทำการตรวจสอบคุณภาพโดยจะตรวจสอบขนาดของ Knockout ว่าได้ขนาดหรือไม่ ชิ้นงานที่ผ่านการทดสอบจะส่งเข้าสู่กระบวนการพับ (Bending) และกระบวนการ Spotting ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วจึงนำชิ้นงานไปทำการอบพ่นสี (Power Coating) ในตู้พ่นที่ได้มาตรฐาน เมื่อเสร็จกระบวนการนี้แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการสกรีน (Screen Printing) ซึ่งในระหว่างกระบวนการต่าง ๆ นั้นจะผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ก่อนนำไปจัดเก็บ |
. |
แผนกเจาะกลึง ส่วนของแผนกเจาะกลึงนี้จะแบ่งขั้นตอนการทำงานออกเป็น 9 ขั้นตอนด้วยกัน เริ่มตั้งแต่กระบวนการตัดทองเหลือง ทำการเจาะรูและต๊าปเกลียว ทำความสะอาดชิ้นงานและนำไปใส่สกรู ซึ่งระหว่างกระบวนการต่าง ๆ นั้นพนักงานจะทำการตรวจสอบคุณภาพทุกขั้นตอนเช่นกัน |
. |
. |
ส่วนในโซนชั้นบนที่ทำการผลิตชิ้นส่วนภายในซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ นั้น จะแบ่งเป็น 4 แผนกด้วยกัน ประกอบด้วย แผนกเตรียมชิ้นส่วน SKD แผนกเตรียมชิ้นส่วน PCB แผนกเตรียมชิ้นส่วน SO/COIL และสุดท้ายคือ แผนกประกอบเครื่องตัดไฟ ซึ่งทุกแผนกจะมีการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงานทุกขั้นตอนเช่นเดียวกัน ก่อนนำไปจัดเก็บเพื่อเตรียมจำหน่ายให้กับลูกค้า |
. |
. |
"ด้วยผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหาของราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันบริษัทก็ยังคงยึดมั่นและให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าของเราอย่างต่อเนื่องเดียวเช่นกัน แต่ทั้งนี้ บริษัท ฯ ก็ยังคงต้องการให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยให้ทัดเทียมกับประเทศคู่แข่ง เช่น มาตรการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เหล่านี้เป็นต้น" |
ดร.ชวาล โสตถิวันวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท เซฟ-ที-คัท (ประเทศไทย) จำกัด และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชัยนาท
|
. |
เพิ่มศักยภาพและมาตรฐานการผลิตด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย |
นอกจากกระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญทางด้านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว เซฟ-ที-คัท ยังได้นำเอาเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้งานมากมายและควบคุมการผลิตโดยช่างผู้ชำนาญการ อาทิเช่น เครื่องตัดเหล็ก (Shearing), เครื่องปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Pressing), เครื่องเจาะ (Punching) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรฐานทางด้านการทดสอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยนำเอาเครื่องทดสอบปฏิบัติการมาตรฐานทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้งานอีกด้วย เช่น เครื่องทดสอบไฟฟ้าช็อต เครื่องทดสอบอุณหภูมิ เครื่องทดสอบความชื้น เครื่องทดสอบการลัดวงจร เครื่องทดสอบกระแสไฟฟ้าผิดพร่อง เครื่องทดสอบการตัดต่อความสมดุลกระแสไฟฟ้าผิดพร่อง เครื่องทดสอบการช็อกทางกล เครื่องทดสอบอิมพัลส์ EMC เครื่องทดสอบแรงดันและฉนวน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ของเซฟ-ที-คัท จึงมีคุณภาพและมาตรฐานการผลิตตามมาตรฐานสากล |
. |
. |
พัฒนาประสิทธิภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง |
จากจุดเริ่มต้นด้วยพนักงานเพียงไม่กี่คน บริษัท เซฟ-ที-คัท (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต จนบริษัทมีความเจริญก้าวหน้าเติบโตขึ้นเป็นผู้นำด้านธุรกิจเพื่อความปลอดภัยในการใช้กระแสไฟฟ้า ปัจจุบันโรงงานผลิตเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งผ่านมาตรฐาน ISO 9001:2000 และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI (Thailand Board of Investment) บริษัทมีพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน ซึ่งทุกคนล้วนแต่ผ่านการคัดเลือกฝึกฝนจนมีความชำนาญในหน้าที่ มีความพยายามในการทำงาน สามารถผลิตงานที่มีพร้อมทั้งคุณภาพและความรวดเร็ว ตลอดจนมีการพัฒนาประสิทธิภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าของบริษัทมีความมั่นใจในสินค้ายิ่งขึ้น |
. |
. |
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี บริษัท เซฟ-ที-คัท (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ จนขณะนี้ได้รับใบสิทธิบัตรจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ 24 ฉบับ ในการเป็นผู้ริเริ่มคิดค้นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องตัดไฟอัตโนมัติ (SAFE-T-CUT), ไฟฉุกเฉิน (SAFE-T-LIGHT), บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ (SAFE-T-BALLAST), เครื่องกันขโมย (SAFE-T-HOME), ตู้ควบคุมวงจรไฟฟ้า Consumer Unit & RCCB, เบรกเกอร์ SAFE-T-CUT, วาล์วตัดแก๊สอัตโนมัติ (SAFE-T-GAS) เป็นต้น สินค้าแต่ละชนิดของเซฟ-ที-คัท จะเป็นที่ยอมรับและอยู่แถวหน้าของตลาดสินค้าเพื่อความปลอดภัยทั้งสิ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะเน้นคุณภาพมาก่อนและเน้นความทนทานใช้งานนานปี ทำให้เป็นที่วางใจของผู้บริโภค ปัจจุบัน มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 80% ของตลาดสินค้าเพื่อความปลอดภัยในประเทศไทย |
. |
. |
สภาวะอุตสาหกรรม กล
|
สำหรับปี 2548 ที่ผ่านมา ยอดการผลิตและยอดขายของเซฟ-ที-คัท ยังเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ เพิ่มขึ้น 15% ในทุก ๆ ปี สำหรับในปี 2549 บริษัทได้วางแผนคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายให้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปัจจัยบวกที่จะเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ คือ การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่ยังคงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ คือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น |
. |
. |
สำหรับปัญหาราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ทางบริษัทได้ปรับวิธีการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการนำระบบ Logistics มาใช้ในการบริหารคลังสินค้าและการขนส่ง เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ส่วนการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะจากจีนที่ปัจจุบันได้ส่งสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาขายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก พบว่า ไม่มีผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้าของเซฟ-ที-คัท เนื่องจากลูกค้ามีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของบริษัท และทางบริษัทเองไม่เน้นการใช้นโยบายด้านราคาในการแข่งขัน แต่จะเน้นด้านคุณภาพ และระยะอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า เป็นจุดขายสำคัญของสินค้า |
. |
ขอขอบคุณ |
- ดร.ประพัฒน์ โพธิวรคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - คุณเกียรติพงศ์
- คุณเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - คุณคมสัน เหล่าศิลปเจริญ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - คุณประทีป สุธีวงศ์ ผู้จัดการ บจก.ตรีเพชร อีซูซุ ชัยนาท |