เนื้อหาวันที่ : 2008-06-30 11:58:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2700 views

การทำสัญญาประกันภัยโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการแสดงเจตนาที่ถูกต้องตรงกัน สัญญาประกันภัยจึงจะเกิดขึ้น ทั้งฝ่ายผู้เอาประกันภัยและฝ่ายที่รับประกันภัย

สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาสองฝ่าย ดังนั้นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการแสดงเจตนาที่ถูกต้องตรงกัน สัญญาประกันภัยจึงจะเกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้วฝ่ายผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายทำคำเสนอขอเอาประกันภัย และฝ่ายที่รู้รับประกันภัยเป็นฝ่ายทำคำสนองตกลงรับประกันภัย

. 

แต่บางกรณีฝ่ายผู้รับประกันภัยอาจเป็นฝ่ายเสนอได้เหมือนกัน กล่าวคือถ้าคำสนองของฝ่ายผู้รับประกันภัยมีข้อจำกัดหรือมีข้อแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่จากที่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยเสนอมา ในกรณีเช่นนี้กฎหมายถือว่าเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยต้องสนองตอบตามข้อเสนอขึ้นใหม่ของฝ่ายผู้รับประกันภัยว่าจะตกลงตามข้อเสนอขึ้นใหม่ของฝ่ายผู้รับประกันภัยหรือไม่ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 359 วรรคสอง)

  

ตัวอย่างเช่น สมส่วนทำคำขอเอาประกันชีวิตของตนและชำระเบี้ยประกันภัยตามอัตราที่ผู้รับประกันภัยกำหนดส่งให้ผู้รับประกันภัยพิจารณา ผู้รับประกันภัยพิจารณาแล้วเห็นว่าชีวิตของสมส่วนเป็นภัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย จำเป็นต้องเพิ่มเบี้ยประกันภัยขึ้นอีก 500 บาท ผู้รับประกันภัยจึงมีหนังสือแจ้งให้สมส่วนทราบ ถ้าสมส่วนส่งเบี้ยประกันภัย 500 บาท ให้กับผู้รับประกันภัย ในกรณีเช่นนี้ถือว่าสมส่วนแสดงเจตนาสนองรับตามคำเสนอขึ้นใหม่ของฝ่ายผู้รับประกันภัย

   

การแสดงเจตนาทำคำเสนอและคำสนอง อาจมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอและคำสนองกันต่อหน้าหรือทางโทรศัพท์หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งการเจตนาโดยวิธีดังกล่าวนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียกว่าทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลเฉพาะหน้านี้ให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 168)

   

ข้อบกพร่องของการแสดงเจตนาทำสัญญาประกันภัยโดยวิธีนี้ก็คือ อาจจะขาดหลักฐานในการฟ้องคดี ทั้งนี้เพราะสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญแล้ว จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 867 วรรคหนึ่ง)

   

แต่ถ้าเป็นการแสดงเจตนาทำคำเสนอและคำสนองไปทางไปรษณีย์หรือทางอื่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียกว่าการแสดงเจตนาทำแก่บุคคลผู้อยู่ห่างกันโดยระยะทางซึ่งในทางทฤษฎี การทำสัญญาประกันภัยโดยวิธีดังกล่าวนี้ กฎหมายเรียกว่าการแสดงเจตนาแก่บุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า (Inter sentes) การแสดงเจตนาแก่บุคคลผู้อยู่ห่างกัน โดยระยะทางนี้ การแสดงเจตนาจะเกิดผลต่อเมื่อไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้นแล้ว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 169)

  

ดังนั้น การทำสัญญาประกันภัยโดยวิธีซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง สัญญาประกันภัยจะเกิดขึ้นเมื่อคำสนองไปถึงผู้ทำคำเสนอ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 360) ไปถึงในที่นี้หมายถึงอยู่ในอำนาจหรือโดยพฤติการณ์ของผู้แสดงเจตนาอาจจะสามารถทราบถึงการแสดงเจตนานั้นได้ เช่น บุรุษไปรษณีย์เอาหนังสือแสดงเจตนาใส่ลงตู้ไปรษณีย์หน้าบ้านของผู้รับ หรือถ้าเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียน ถ้าผู้รับการแสดงเจตนาไม่อยู่บ้าน แต่มีคนในบ้านรับหนังสือแสดงเจตนานั้นไว้ก็ถือว่าไปถึงแล้ว โดยไม่คำนึงว่าผู้รับการแสดงเจตนานั้นจะได้เปิดอ่านแล้วหรือไม่ก็ตาม

  

การทำสัญญาประกันภัยโดยวิธีซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง โดยปกติจะมีการลงชื่อในหนังสือแสดงเจตนานั้นด้วยการแสดงเจตนาโดยวิธีนี้จึงมีข้อดีเพราะมีหลักฐานเป็นหนังสือสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าในการทำสัญญานั้น อาจมีการตกลงทำสัญญากันด้วยปากเปล่าหรือโดยปริยาย หรือโดยการตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้

  

เนื่องด้วยในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จึงมีทางเลือกในการทำสัญญากันทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามารองรับการทำสัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายดังกล่าวได้แก่พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2545 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของทั้งภาครัฐและของภาคเอกชนหรือประชาชน

  

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 จึงได้บัญญัติห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 7)

  

นอกจากนั้นแล้วพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ยังได้บัญญัติห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายเพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 11) การใดก็ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว (มาตรา 8)

  

คำเสนอหรือคำสนองในการทำสัญญาอาจทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และห้ามมิได้ปฏิเสธการมีผลทางกฎหมายของสัญญาเพียงเพราะเหตุที่สัญญานั้นได้ทำคำเสนอหรือคำสนองเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา 13) ในระหว่างผู้ส่งข้อมูลและผู้รับข้อมูล การแสดงเจตนาหรือคำบอกกล่าวอาจทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ (มาตรา 14) การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่าได้มีการส่งเมื่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้าสู่ระบบข้อมูลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ส่งข้อมูล (มาตรา 22) การรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือว่ามีผลนับตั้งแต่เวลาที่ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับข้อมูล (มาตรา 23 วรรคหนึ่ง)

  

ดังนั้นในการทำสัญญาประกันภัยโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าบริษัทส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตอบตกลงรับประกันภัย ได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้รับข้อมูลแล้ว สัญญาประกันภัยก็เกิดขึ้น ถ้าระบบข้อมูลของผู้รับต้องส่งจาก Server คือศูนย์ใหญ่ไปยัง Brover คือ ศูนย์ย่อยหรือเครือข่ายด้วย ผู้เขียนมีความเห็นว่า เมื่อคำสนองที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของผู้รับประกันภัยเข้าไปยัง Server ของผู้รับแล้วต้องถือว่าไปถึงแล้ว

  

ปัญหาเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่อย่างไรนั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ไว้ในหมวด 2 โดยในมาตรา 26 กำหนดความน่าเชื่อถือของลายมือชื่อิเล็กทรอนิกส์ไว้รวม 4 กรณีและในมาตรา 28 ได้บัญญัติให้มีการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลทางกฎหมายเสมือนหนึ่งลายมือชื่อด้วย

  

นอกจากนั้นแล้วพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ยังได้ให้สิทธิแก่บุคคลในอันที่จะประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งให้ทราบ ต้องขึ้นทะเบียนหรือต้องได้รับใบอนุญาตตามที่จะได้กำหนดในพระราชกฤษฎีกา อีกทั้งพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้บัญญัติเกี่ยวกับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐไว้ด้วย

  

โดยคำขอ การอนุญาต การจดทะเบียน คำสั่งทางปกครอง การชำระเงิน การประกาศ หรือการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายกับหน่วยงานของรัฐ ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาให้ถือว่ามีผลโดยโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายในเรื่องนั้น ๆ กำหนด  

  

อำนวย สุภเวชย์ 

กรมการประกันภัย