เนื้อหาวันที่ : 2008-06-30 09:15:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1117 views

แบงก์ต่างชาติเบรก ธปท.ขึ้นดบ.สกัดเงินเฟ้อ หวั่นกระทบการใช้จ่าย-ลงทุน

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดไทย วอน ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ต่อปีเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อให้น้ำหนักกับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่าการมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ

.

น.ส. อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดไทย (SCBT) กล่าวว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ต่อปีเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อให้น้ำหนักกับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่าการมุ่งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ

.

เนื่องจากการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ยังเป็นผลจากแรงกดดันด้านต้นทุนโดยเฉพาะราคาน้ำมันไม่ใช่เงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการอุปโภคบริโภค ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ได้เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดี กลับกันกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนและบั่นทอนการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจในภาวะที่ไทยพึ่งพาการส่งออกให้เป็นตัวขับเคลื่อนไม่ได้ หลังเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาชะลอตัว ซึ่งจะเห็นการส่งออกไทยหดตัวลงชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปีนี้และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า กระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราชะลงลงมาอยู่ที่ 4.7%และ 4.5% ตามลำดับ

.

น.ส.อุสรา กล่าวว่า จีดีพีที่ 6% ในไตรมาสแรกเป็นช่วงพีกสุดของปีแล้ว ต่อไปจะเห็นการชะลอลงไปอีกต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งจีดีพีที่ทางการมองในปีนี้ที่ 5-6% ถือว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานตลอดทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 6.4% แต่ปีหน้าจะลดลงเหลือ 3.8% เพราะฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปีนี้สูง  

.

"ที่ผ่านมาพบว่าส่วนต่างเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานกว้างมาก และเห็นการส่งผ่านจากเงินเฟ้อทั่วไป ไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานมีความหนืด เหตุผลหลักจากการควบคุมราคาสินค้าของทางการ ดังนั้นเงินเฟ้อทั่วไปที่เร่งตัวจากราคาน้ำมันหรือต้นทุนจะส่งผ่านไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานได้ลำบาก จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงนี้ เพราะจะกระทบการใช้จ่ายและลงทุน"น.ส.อุสรา กล่าว

.

น.ส.อุสรา กล่าวด้วยว่า หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงและอัตราเงินเฟ้อคือการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้อ่อนค่าเร็วเกินไป ขณะเดียวกันต้องทบทวนนโยบายด้านภาษีการนำเข้าบางรายการเพื่อแบ่งเบาภาระด้านต้นทุนภาคเอกชน

.

ขณะเดียวกันยังมีความกังวลว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบัน นอกจากจะกระทบอุปสงค์ในประเทศแล้ว ยังมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง(FDI) และหากเหตุการณ์ยืดเยื้อจนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงการเมืองอีกครั้งก็จะกระทบต่อโครงการวางระบบสาธารณูปโภคซึ่งมีความล่าช้ามานานแล้วถึง 2 ปี กระทบต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ