เนื้อหาวันที่ : 2008-06-24 15:49:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1354 views

สวค.ชี้เอฟทีเออาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่งผลดีต่อการลงทุนไทยในอาเซียน

ชี้สินค้าของไทยกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นสินค้าเสริมทางการค้ามากกว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยมากที่สุด โดยไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและยานยนต์คิดเป็นมูลค่าสูงสุดในอาเซียน

 .

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดผลการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) เรื่อง "ผลกระทบต่อประเทศไทยจากการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน กับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์" ชี้การจัดทำความตกลงก่อให้เกิดผลดีกับการลงทุนของไทยและอาเซียนในภาพรวมจากการขยายการลงทุนระหว่างกันเพื่อแสวงหาสิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า

.

และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อนักลงทุนต่างชาติในประเทศ และภูมิภาคอื่นให้หันมาสนใจลงทุนในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงประเทศไทย ชี้สินค้าของไทยกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นสินค้าเสริมทางการค้ามากกว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยมากที่สุด โดยไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและยานยนต์คิดเป็นมูลค่าสูงสุดในอาเซียน

.

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการศึกษาที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศไทยจากการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ว่าสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังได้ประเมินความคุ้มค่าของการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ต่อประเทศไทยว่ามีสาระสำคัญสี่ประเด็นหลักคือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดสินค้า ผลกระทบต่อภาคบริการ และผลกระทบต่อการลงทุน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

.

ความคุ้มค่าในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การจัดทำความตกลงดังกล่าวจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นทาง  การเมืองระหว่างประเทศในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และแสดงจุดยืนของประเทศไทยร่วมกับอาเซียนในการคานอำนาจระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิมคือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น กับขั้วอำนาจใหม่คือ จีน และอินเดีย

.

ส่วนผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดสินค้า ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะเปิดตลาดสินค้าเพิ่มขึ้น และเร็วขึ้นในสินค้ากลุ่มเครื่องหนัง สิ่งทอ ยานยนต์ และชิ้นส่วน พร้อมกันนั้น   ผู้ส่งออกไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  เพื่อสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้ทุกกลุ่มสินค้า ด้านผลกระทบต่อภาคบริการ การจัดทำความตกลงเปิดโอกาสให้ธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจบริการท่องเที่ยว และเดินทาง ตลอดจนกลุ่มธุรกิจใหม่ๆที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นธุรกิจบริการขนส่งพัฒนาจากระดับประเทศไปสู่ระดับภูมิภาค

.

ส่วนผลกระทบต่อการลงทุน คาดว่าจะก่อให้เกิดผลต่อการลงทุนของไทย และอาเซียนในภาพรวมจากการขยายการลงทุนระหว่างกันเพื่อแสวงหาสิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อนักลงทุนต่างชาติในประเทศ/ภูมิภาคอื่นให้หันมาสนใจลงทุนในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงประเทศไทย

.

"ถ้าไทยไม่ร่วมในความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว   ผลที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือ   ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในความร่วมมือด้านต่างๆ ภายใต้ความตกลง ฯ กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นที่เข้าร่วมอาจมีความได้เปรียบด้านข้อมูลยุทธศาสตร์มากกว่าไทย  ส่วนผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดสินค้านั้นไทยจะสูญเสียโอกาสใน  การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่นมากกว่าเดิมโดยเฉพาะในกรณีสินค้ากลุ่มสิ่งทอ เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ และพลาสติกที่มีกระบวนการผลิตมากกว่าหนึ่งขั้นตอน และ/หรือใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศมาก

.

อย่างไรก็ตามจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคบริการ เนื่องจากไทยได้รับประโยชน์จากข้อผูกพันเปิดเสรีภาคบริการ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (AFAS) และความตกลงการค้าเสรีไทยกับออสเตรเลีย (TAFTA) สำหรับเรื่องลงทุนการเปิดเสรีโดยใช้วิธีระบุเฉพาะสาขาที่จะไม่เปิดเสรี อาจมองได้ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ คือในกรณีที่เกิดการลงทุนแบบใหม่ๆ ขึ้น ทั้งไทย สมาชิกอาเซียนอื่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะสามารถได้ประโยชน์ในการลงทุนนั้นโดยอัตโนมัตินางสาวชุติมากล่าว

.

อนึ่งภาพรวมการค้าสินค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้นมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2549 มีมูลค่าการค้าสินค้าระหว่างกันรวมมากกว่า 8,600  ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2550 ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีไทยกับออสเตรเลีย (TAFTA) โดยขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ เป็นมูลค่าประมาณ 1.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทยสู่ออสเตรเลีย

.

การใช้สิทธินำเข้าภายใต้กรอบ TAFTA มีมูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 10 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากออสเตรเลีย ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าสินค้าของไทยกับสินค้าของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นสินค้าเสริมทางการค้ามากกว่าสินค้าที่เป็นคู่แข่งทางการค้า โดยเครื่องปรับอากาศ และยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เป็นมูลค่ามากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน

.

ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยมากที่สุดในโลก และนำเข้ายานยนต์จากไทยมากเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่นและไทยกับประเทศอื่นๆในอาเซียนนำเข้าสินค้าประเภทสินแร่ นมผง และฝ้าย จากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มากที่สุด