เนื้อหาวันที่ : 2008-06-24 09:38:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2012 views

ผลสำรวจชี้กลุ่มผู้บริหารญี่ปุ่นมองเศรษฐกิจในปท.ผ่านจุดที่มีการขยายตัวไปแล้ว

เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวเศรษฐกิจทั่วโลก นักวิเคราะห์เตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวอย่างเชื่องช้าจากปัญหาทางเศรษฐกิจสหรัฐ

.

เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก  นักวิเคราะห์เตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวอย่างเชื่องช้าจากปัญหาทางเศรษฐกิจสหรัฐ

.

กลุ่มผู้บริหารระดับสูงของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่า ญี่ปุ่นได้ก้าวผ่านจุดที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศไปแล้ว ผลสำรวจความคิดเห็นของประธานและผู้บริหารระดับสูงจาก 100 บริษัทครั้งล่าสุดที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน ระบุว่า ผู้บริหาร 53 รายจากบริษัทแต่ละแห่งกล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่นได้ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 46 รายที่ทำการสำรวจในเดือนพ.ย.

.

ขณะที่ผู้บริหาร 10 รายกล่าวว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปีนี้ ส่วนผู้บริหาร 32 รายกล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกินเวลายาวต่อเนื่องไปจนถึงปลายปีนี้หรือในปีหน้า     ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามได้หยิบยกเอาทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ซบเซาและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับราคาวัตถุดิบมาเป็นปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคต

.

นายฟุกุชิโร่ นูคากะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก   ความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจจีนก็ยังไม่มีความชัดเจน"รมว.คลังญี่ปุ่นกล่าว

.

สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในระดับแข็งแกร่งที่ 4.0% ต่อปีในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ซึ่งเป็นสถิติการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3  ซึ่งตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมาหลังจากญี่ปุ่นเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2533

.

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวอย่างเชื่องช้าจากปัญหาทางเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นผลจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และปัญหาที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤติสินเชื่อ