เนื้อหาวันที่ : 2008-06-23 09:58:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1247 views

พลังงานแจงยอดใช้น้ำมันพ.ค.ลดลง 10.6% หลังราคาแพง

ปริมาณการใช้น้ำมันในเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมาลดลง โดยปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินลดต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการใช้ในระดับปกติคือ 19-21 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 18.0 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนเมษายน 10.6% ทั้งนี้ เป็นการลดลงทั้งจาก เบนซิน 91 เบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95

นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ปริมาณการใช้น้ำมันในเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมาลดลง โดยปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินลดต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการใช้ในระดับปกติคือ 19-21 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 18.0 ล้านลิตร/วัน  ลดลงจากเดือนเมษายน 10.6% ทั้งนี้ เป็นการลดลงทั้งจาก เบนซิน 91 เบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 

.

ในส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับลดลงเช่นเดียวกัน จากเดิมในเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 53 ล้านลิตร/วัน ลดลงเหลือ 50 ล้านลิตร/วัน หรือลดลง 7.6%  ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่พ้นจากช่วงเทศกาลในเดือน เม.ย. ซึ่งมีการใช้น้ำมันในการเดินทางและขนส่งมาก ประกอบกับ กฟผ.เริ่มใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุนและแหล่งอาทิตย์ได้แล้วตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วในภาคผลิตไฟฟ้าลดลงด้วย

.

"เห็นได้ชัดว่า จากราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2551 2.89 บาท/ลิตร และราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพิ่มขึ้นถึง 3.22 บาท/ลิตร ทำให้พฤติกรรมการใช้พลังงาน รวมทั้งพลังงานทางเลือกอย่างน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลเปลี่ยนแปลงไป คือ ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล  และส่วนหนึ่งอาจเปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถเมล์มากขึ้น

.

ในขณะเดียวกัน การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ E20 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2551  3.9% และ 26% ตามลำดับ โดยยอดการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 2 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ E20 0.1 ล้านลิตร/วัน ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี5 อยู่ที่ระดับ 9.6 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 13.1% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2550 เกือบ 7 เท่าตัว" นายเมตตากล่าว

.

ด้านปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงรวมทั้งหมด ใน 5 เดือนแรกของปี 2551 อยู่ที่ระดับ 144.0 ล้านลิตร/วัน  เพิ่มขึ้นจากปี 2550  8.0% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 443,376 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 61.7% ในขณะที่การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ระดับ 2.3 ล้านลิตร/วัน ลดลง 10.4% แต่มูลค่า 7,224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2% ทั้งนี้ เป็นผลจากไทยออยส์ขยายกำลังการผลิตเมื่อปลายปี 2550 ทำให้มีการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นเพิ่มขึ้น  

.

ส่วนปริมาณการส่งออก อยู่ที่ระดับ 26.1 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 27.1% มูลค่าการส่งออก 88,890 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  95.2%  ทำให้ปริมาณการนำเข้าสุทธิของประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 4.6% และมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 55.0% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 67%

.

ด้านพล.ท.หญิง พูนภิรมย์  ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2547 จากระดับ 34-41 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็น 99-111 ดอลลาร์/บาร์เรล ในปี 2551 ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยราคาน้ำมันเบนซิน (ณ วันที่ 20 มิ.ย. 2551) อยู่ที่ระดับ 42.09 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วอยู่ที่ระดับ 41.84 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึง 23 และ 26 บาท/ลิตร ตามลำดับ

.

 จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และ NGV โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจด้านราคา ทำให้ราคาพลังงานทดแทนถูกกว่าราคาน้ำมัน 0.70-6.00 บาท/ลิตร ประชาชนจึงเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยหันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น

.

และส่วนหนึ่งมีผู้ประกอบการรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่เปลี่ยนมาใช้ NGV เป็นจำนวนมาก ประกอบกับ ปตท.ได้ขยายปั๊ม NGV เพิ่มขึ้นทำให้ขณะนี้มีปั๊ม NGV ทั้งหมด 195 แห่ง และการใช้ NGV อยู่ที่ระดับ 62.8 ล้าน ลบ.ฟ./วัน หรือ 1.6 พันตัน/วัน เพิ่มจากต้นปี 2551 ที่ระดับ 41.1 ล้าน ลบ.ฟ./วัน หรือ 1.1 พันตัน/วัน

.

สำหรับการใช้ก๊าซ LPG ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะราคาถูกกว่าน้ำมัน เนื่องจากรัฐให้การชดเชยโดยเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนราคาเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาคครัวเรือน ทำให้ประชาชนมีการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ จนทำให้ก๊าซ LPG อาจเกิดขาดแคลนและส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปรับราคาก๊าซ LPG ให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อความเป็นธรรมและความมั่นคงของประเทศ

.

โดยขณะนี้เริ่มมีผู้นำถังก๊าซหุงต้มที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนไปใช้ในเครื่องยนต์พาหนะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือเรือสาธารณะก็ตาม ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 ผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ