เนื้อหาวันที่ : 2008-06-19 20:34:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3551 views

กนอ. จับมือฟิลิปส์ เดินหน้าสานต่อโครงการรีไซเคิลหลอดไฟหมดอายุลดภาวะโลกร้อน

กนอ. เร่งเดินหน้าโครงการ "3Rเพื่อสิ่งแวดล้อม กนอ. ร่วมใจใช้หลอดไฟเพื่อสิ่งแวดล้อม" ส่งมอบหลอดไฟหมดอายุใช้งานจากโรงงานในนิคมอุตฯให้กับ ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปกำจัดและรีไซเคิลหลอดไฟหมดอายุใช้งาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดภาวะโลกร้อน

.

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งเดินหน้าโครงการ "3R เพื่อสิ่งแวดล้อม กนอ. ร่วมใจใช้หลอดไฟเพื่อสิ่งแวดล้อม" ส่งมอบหลอดไฟหมดอายุใช้งานจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมให้กับ บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปกำจัดและรีไซเคิลหลอดไฟหมดอายุใช้งาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดภาวะโลกร้อน พร้อมทั้งรณรงค์การใช้หลอดไฟสารปรอทต่ำเพื่อลดของเสียที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

.

นางเกษมศรี หอมชื่น รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 1) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่งมอบหลอดฟลูออเรสเซนต์หมดอายุการใช้งานจำนวน 14,181 หลอด จาก 53 โรงงานในนิคมฯ ในรอบครึ่งปีแรกจนถึงเดือนมิถุนายน ให้กับนาย ภูมันต์ ปานรักษา กรรมการบริหาร บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 และคาดว่าจะสามารถส่งมอบหลอดฟลูออเรสเซนต์หมดอายุการใช้งานครบจำนวนโควต้าทั้งสิ้น 40,000 หลอดภายในเดือนธันวาคม 2551

.

ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ กนอ. และฟิลิปส์ที่จะนำหลอดฟลูออเรสเซนต์หมดอายุการใช้งานไปรีไซเคิล โดย ฟิลิปส์ไม่คิดค่าใช้จ่ายภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี คือตลอดปี 2551 นี้ โครงการ "3R เพื่อสิ่งแวดล้อม กนอ. ร่วมใจใช้หลอดไฟเพื่อสิ่งแวดล้อม" เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกนอ.และฟิลิปส์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ให้เป็นไปตามหลัก 3R (Reduce/ Reuse/ Recycle) นั่นคือ

.

การลดการใช้ทรัพยากร/พลังงาน และลดปริมาณของเสียที่จะนำไปกำจัดและปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (Reduce) ด้วยวิธีการกำจัดหลอดไฟที่สิ้นอายุการใช้งานแล้วอย่างถูกวิธีเพื่อการนำชิ้นส่วนหลอดไฟกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้กล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ซ้ำ (Reuse) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์หลอดไฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีปริมาณสารปรอทเพียงแค่ 3 มิลลิกรัม ต่ำกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั่วไปที่มีสารปรอทปริมาณ 10-30 มิลลิกรัม  หลอดฟลูออเรสเซนต์เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว

.

ถือเป็นของเสียอันตรายเนื่องจากมีสารปรอทเป็นองค์ประกอบ เมื่อเกิดการแตกหัก ไอปรอทที่บรรจุอยู่ภายในจะระเหยออกสู่สิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ร่างกายได้โดยการหายใจ ดังนั้นจึงต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกวิธีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฟิลิปส์จึงได้ประกาศโครงการ ฟิลิปส์ เติมยิ้มสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนไปเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา

.

เพื่อบริหารจัดการซากหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรงที่หมดอายุแล้ว ด้วยการนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ณ โรงงานรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่ตั้งอยู่ภายในโรงงานผลิตหลอดไฟ ฟิลิปส์ ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยการนำหลอดฟลูออเรสเซนต์เข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยในขั้นแรกจะทำการตัดขั้วหลอดที่บรรจุสารปรอททั้ง 2 ข้างแล้วนำไปฝังกลบโดยบริษัทกำจัดขยะมีพิษ

.

หลังจากนั้นใช้น้ำในกระบวนการบำบัดหลอดแก้วเพื่อชะล้างสารปรอทที่บรรจุอยู่ในหลอดแก้ว และจะมีการบำบัดน้ำที่ใช้ในกระบวนการนี้เพื่อไม่ให้มีสารพิษตกค้าง และนำหลอดแก้วที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วไปบดให้เป็นเศษแก้วเพื่อนำกลับมาใช้ได้ใหม่ด้วยการหลอมขึ้นรูปทรงใหม่ พร้อมนำเสนอหลอดฟลูออเรสเซนต์ฟิลิปส์ในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งได้แก่ หลอดฟลูออเรสเซนต์ฟิลิปส์ ซูเปอร์ขั้วเขียว ซึ่งมีสารปรอทเพียง 3 มิลลิกรัม และชุดประหยัดไฟฟิลิปส์ click-2-save ซึ่งประหยัดไฟได้สูงสุด 20% ทดแทนหลอดเดิมที่หมดอายุ

.

นอกจากนั้นฟิลิปส์ยังได้มีการจัดสัมมนา หัวข้อ "การประหยัดพลังงานในระบบแสงสว่างและการรีไซเคิลหลอดไฟเพื่อสิ่งแวดล้อม" เพื่อให้ความรู้ในเรื่องการบริหารการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำจัดและการรีไซเคิลหลอดไฟที่หมดอายุใช้งาน

.

โดยในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2551 ฟิลิปส์ได้จัดสัมมนาไปแล้ว 7 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 350 คน จากนิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร และนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี และภายในปีนี้ ฟิลิปส์วางแผนจะจัดสัมมนาให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอื่นต่อไป