สำนักงานเศรษฐกิจการคลังแนะรับมือเพื่อป้องกันผลกระทบต่อไทยที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของเวียดนาม เชื่อปัญหาเศรษฐกิจเวียดนามยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
. |
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) แนะรับมือเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของเวียดนาม เพราะเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจในเวียดนามยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจจะมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวในระดับสูงตามราคาน้ำมันดิบและราคาอาหาร |
. |
โดยแนวทาง 5 ประการเพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าวนี้ ไทยควรจะวางมาตรการเพื่อสนับสนุนการกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพาเศรษฐกิจภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง, หน่วยงานรัฐควรเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่ไหลเข้าหรือออกจากประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการป้องกันการเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างชาติ |
. |
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรดูแลติดตามค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป, ใช้มาตรการการคลังและการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการพึ่งพาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกน้อยลง และหันมาพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น และประการสุดท้ายในระยะยาวรัฐบาลควรใช้นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศ (Productivity) เพื่อไม่ให้ประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเวียดนาม |
. |
สศค. กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางของเวียดนามได้ประกาศปรับลดค่าเงินดองลง 1.96% และขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง 2% เพื่อแก้ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลในระดับสูง และลดปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปนั้น มีโอกาสส่งผลกระทบต่อไทยผ่าน 4 ช่องทาง คือช่องทางการค้า ทำให้การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามลดลง |
. |
ขณะที่การนำเข้ามากขึ้นจากค่าเงินดองที่อ่อนค่าลง ทำให้การเกินดุลการค้าของไทยต่อเวียดนามลดลง, ช่องทางการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ, ช่องทางการเงินระหว่างประเทศ และช่องทางการเก็งกำไรค่าเงินในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ดี สศค.ยังเชื่อว่าขณะนี้ภาคการเงินไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงนัก เพราะปัจจัยพื้นฐานเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง |