สบน. เผย คณะกรรมการด้านการระดมเงินใช้ในโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ ไม่สนเงินกู้ในประเทศ เล็งหันกู้เงินจากต่างประเทศมากขึ้น เพราะขณะนี้เงินกู้ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
|
. |
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการด้านการระดมเงินใช้ในโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็คต์ เตรียมรายงานสรุปรูปแบบการระดมเงิน, ภาระงบประมาณ ตลอดจนภาพรวมผลกระทบจากการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการเมกะโปรเจ็คต์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในอีก 1-2 สัปดาห์หน้า |
. |
วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ประเมินสถานการณ์ในตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศ โดยมองว่าขณะนี้การกู้เงินจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การระดมเงินเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็คต์ต้องหันไปกู้เงินจากต่างประเทศมากขึ้น เพราะขณะนี้เงินกู้ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น |
. |
ทั้งนี้หากมีการกู้ในประเทศมากไปจะเป็นการแย่งสภาพคล่องกับเอกชน จึงอาจจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศและแหล่งเงินกู้ต่างประเทศมากขึ้น |
. |
"ตั้งแต่ต้นปีประเมินว่าตลาดเงินในประเทศเอื้ออำนวย แต่ขณะนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วมาก จึงเห็นว่าการกู้เงินจากต่างประเทศ และการกู้เงินจากทางการอาจจะมีความจำเป็นมากขึ้น เพื่อการบริหารต้นทุนได้ง่ายขึ้นและไม่แย่งสภาพคล่องกับเอกชน เดิมกำหนดสัดส่วนการกู้เงินในประเทศและต่างประเทศไว้ที่ 60:40 แต่ขณะนี้ไปเปลี่ยนเป็น 50:50 ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์ต่อไป" นายพงษ์ภาณุ ระบุ |
. |
อย่างไรก็ดี ได้มีการจัดกลุ่มโครงการเมกะโปรเจ็คต์ไว้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโครงการที่เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ มูลค่าลงทุนรวม 8 แสนล้านบาท, โครงการด้านพื้นฐานทางสังคม มูลค่าลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท และโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภาครัฐเชิงพาณิชย์ มูลค่าลงทุนรวม 6 แสนล้านบาท ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีวิธีการระดมทุนแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม |
. |
สำหรับการกู้เงินจะมาจากทั้งแหล่งในประเทศและต่างประเทศ การจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการร่วมลงทุนกับเอกชน(PPP) การจัดตั้งกองทุนสำหรับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งที่ประชุมจะได้ศึกษาความเหมาะสมและระยะเวลาในจัดตั้งกองทุนดังกล่าวต่อไป |