เนื้อหาวันที่ : 2008-06-10 10:23:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2395 views

จัดการน้ำแสนล้าน เขื่อนอีกแล้วครับท่าน

ขณะนี้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐนั้นที่แท้คือโครงการอะไรกันแน่ แล้วก็พบคำตอบว่าหลีกไม่พ้นโครงการสร้างเขื่อนอยู่นั่นเอง โดยในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งรวมทั้งต้องเผชิญอุทกภัยมากยิ่งขึ้น ขณะที่ทิศทางการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทย ยังคงมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะการสร้าง "เขื่อน" เพื่อแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัยมากขึ้นตามไปด้วย

โดย : อานุภาพ นุ่นสง

.

ช่วงปี 2549 – 2552 เริ่มต้นจากยุครัฐบาลที่มาจาก คมช. คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณตามแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ (Mega Project) ในการบริหารจัดการน้ำตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอจำนวน 2.4 แสนล้านบาท (ร้อยละ 12 ของงบประมาณทั้งหมด) ในงบประมาณจำนวนนี้แบ่งเป็นงบประมาณส่วนของการก่อสร้างสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท

.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้เสนอแผนการจัดการลุ่มน้ำภายใต้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐให้เหตุผลว่า นับแต่ปี 2532-2544 ประเทศไทยได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากปัญหาอุทกภัยปีละกว่า 70,000 ล้านบาท และจากปัญหาภัยแล้งอีกปีละกว่า 22,700 ล้านบาท

.

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศในภาพรวม เป็นไปอย่างเป็นระบบและยั่งยืนทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำทั้งในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย

.

.

ขณะนี้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐนั้นที่แท้คือโครงการอะไรกันแน่ แล้วก็พบคำตอบว่าหลีกไม่พ้นโครงการสร้างเขื่อนอยู่นั่นเอง โดยในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยเริ่มประสบปัญหาภัยแล้งรวมทั้งต้องเผชิญอุทกภัยมากยิ่งขึ้น ขณะที่ทิศทางการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทย ยังคงมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่โดยเฉพาะการสร้าง "เขื่อน" เพื่อแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัยมากขึ้นตามไปด้วย

.

แต่ในความเป็นจริงพบว่าการสร้างเขื่อนจำนวนมากมายเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ปัญหาทั้งภัยแล้งหรืออุทกภัยลดลงแต่อย่างใด ปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นทุกปีและมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

.

อย่างไรก็ตาม รายงานสรุปเรื่องเขื่อนกับการพัฒนาที่ศึกษาโดย คณะกรรมการเขื่อนโลก (ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างธนาคารโลก (World Bank) กับสหพันธ์สากลเพื่อการอนุรักษ์ (IUCN) ในเดือนพ.ค.2541) ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีเขื่อนรวมกันกว่า 45,000 แห่ง กว่า 20,000 แห่งอยู่ในประเทศจีน

.

รายงานระบุต่อว่า แม้เขื่อนจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็พบว่าเขื่อนจำนวนเกือบทั้งหมดแลกมาด้วยความสูญเสียทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เกินกว่าจะรับได้ ผลจากการสร้างเขื่อนทั่วโลกทำให้ประชาชนประมาณ 60-80 ล้านคนถูกอพยพออกจากพื้นที่ภายหลังการก่อสร้าง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นซึ่งไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการสร้างเขื่อนแม้แต่น้อย ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าปัจจุบันแม่น้ำทั่วโลกกว่า 60% ถูกกั้นโดยเขื่อน ส่วนที่เหลือ 40% ยังคงไหลอย่างอิสระ

.

นี่ยังไม่นับรวมผลการศึกษาที่ระบุว่า เขื่อนที่อ้างผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วโลกพบว่ากว่าครึ่งสามารถผลิตได้ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ , เขื่อนที่อ้างเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วโลกพบว่า 70%ไม่เป็นไปตามที่กำหนด , เขื่อนที่อ้างชลประทานทั่วโลกพบว่าเกือบครึ่งพัฒนาระบบชลประทานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น , เขื่อนที่อ้างเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยทั่วโลกพบว่าไม่ได้แก้ปัญหาแต่กลับทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักขึ้น

.

แม้ว่าผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกซึ่งระบุออกมาชัดเจนเช่นนี้ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยไม่เคยนำผลการศึกษาเหล่านี้ ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม โครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ยังถูกเลือกเป็นทางเลือกแรกทั้งในการแก้ปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย รวมทั้งด้านพลังงานมาโดยตลอด

.

ตลอดระยะเวลาการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐที่ผ่านมา มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไปแล้วกว่า 40 แห่ง เขื่อนขนาดกลางกว่า 200 แห่ง และเขื่อนขนาดเล็กอีกกว่า 6,000 แห่ง งบประมาณจำนวนมหาศาลถูกทุ่มลงไปเพื่อการดำเนินการ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 1 ใน 3 ของการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ นอกเหนือจากถนนและไฟฟ้า

.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเหตุผลดังกล่าวอาจจะฟังดูดีเพราะมีเจตนาเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าเขื่อนเกือบทุกเขื่อนที่มีการสร้างในประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลว ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพล้วนใช้เหตุผลดังกล่าวมากล่าวอ้างแทบทั้งสิ้น

.

แน่นอนว่า จากแนวคิดการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจ โดยใช้วิธีการก่อสร้างต่างๆ ผลที่เกิดขึ้นย่อมหนีไม่พ้นผลกระทบทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ยากแก่การประเมินความเสียหายที่แท้จริงได้

.

กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนท้องถิ่นจำนวนมาก ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะความล่มสลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ความเสียหายต่อสภาพแวดล้อม เช่น โครงการเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี โครงการเขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร โครงการเขื่อนราษีไศล จ.ศรีษะเกษลุกฮือขึ้นมาทวงถามความชอบธรรม ความรับผิดชอบจากรัฐต่อปัญหาที่เกิดขึ้น

.

และอีกหลายกรณีแม้ยังไม่มีโครงการก่อสร้าง เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ โครงการเขื่อนแม่ขาน จ.เชียงใหม่ โครงการเขื่อนสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน แต่ชุมชนท้องถิ่นจำนวนมาก ต่างออกมาคัดค้านการดำเนินการ โดยให้เหตุผลครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเขื่อนมิได้เป็นทางเลือกเดียวในการบริหารจัดการน้ำ ยังมีวิธีการ รูปแบบอื่นๆ ในการจัดการอีกมากที่รัฐควรนำไปพิจารณาเพื่อลดผลกระทบในการดำเนินการ เช่น การสร้างฝายภูมิปัญญาชาวบ้าน การขุดลอกลำน้ำให้น้ำไหลสะดวก รวมทั้งการสร้างพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

.
แต่ทางเลือกเหล่านี้กลับไม่เคยได้รับการพิจารณาจากรัฐ กรณีดังกล่าวจึงนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจากทั่วประเทศเป็น "เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากเขื่อนและการจัดการน้ำของรัฐ" ซึ่งเป็นการรวมตัวของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน และนโยบายการจัดการน้ำของรัฐจากทั่วประเทศจำนวน 24 กลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจาก เขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช เขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ เขื่อนแม่ขาน จ.เชียงใหม่ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ฯลฯ
.

ซึ่งที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ เครือข่ายดังกล่าวจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาของแต่ละพื้นที่ ณ บ้านแม่ขนิลใต้ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานกำลังผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแม่ขาน

.

พร้อมกันนี้ เครือข่ายฯ ได้ระดมข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม และยั่งยืนว่านับแต่นี้ทางเครือข่ายฯ จะเพิกเฉยต่อการรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการน้ำของรัฐต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาเขื่อนแต่ละเขื่อนที่รัฐสร้างไม่สามารถแก้ปัญหาตามที่รัฐกล่าวอ้างใดๆ ได้

.

ในทางตรงกันข้ามกลับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างหนัก ขณะที่ภาครัฐเองก็ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ซ้ำยังมุ่งที่จะสร้างเขื่อนต่อไป กรณีเหล่านี้ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าจะเพิกเฉยต่อการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ไว้ที่รัฐต่อไปไม่ได้แล้ว รัฐต้องกระจายอำนาจการจัดการน้ำมาสู่ชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำทั้งระบบ ดังนั้น เครือข่ายฯขอเรียกร้องว่า

.

1. รัฐต้องฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในกรณีเขื่อนที่สร้างไปแล้ว

2. รัฐต้องยกเลิกการสร้างเขื่อนใหม่ และสนับสนุนการจัดการน้ำโดยชุมชน

3. รัฐต้องยกเลิกโครงการผันน้ำ ซึ่งถือเป็นการแย่งน้ำจากชาวบ้านไปให้ภาคธุรกิจ

4. รัฐต้องยุติการผลักดันกฎหมายน้ำซึ่งเป็นการรวมศูนย์การตัดสินใจในการจัดการน้ำ

5. รัฐต้องยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการเอาสมบัติชาติ ไปขายให้นายทุนและบริษัทข้ามชาติ

6. รัฐต้องยุติการทำลายองค์ความรู้ในการจัดการน้ำโดยภูมิปัญญาท้องถิ่น

.

จะเห็นได้ว่า แนวคิดการบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ภาครัฐเพียงลำพังโดยมุ่งเน้นการจัดหาแหล่งน้ำ การแก้ปัญหาภัยแล้ง การป้องกันอุทกภัยโดยการสร้างเขื่อนนั้นมิได้เป็นคำตอบสุดท้ายแต่อย่างใด

.

ทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำ บทเรียนปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากเขื่อนที่หมักหมมมานานนับสิบปี และส่งผลกระทบต่อชุมชนจำนวนมหาศาล ควรมีการสรุปได้แล้วว่าการดำเนินการเป็นไปแบบบูรณาการ สร้างความเป็นธรรมและยั่งยืนอย่างที่รัฐมักชอบกล่าวอ้างได้บ้างหรือไม่

.

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสการเผชิญหน้า การคัดค้านการสร้างเขื่อนอย่างหนักคงถึงเวลาแล้ว ที่รัฐควรนำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณา เพราะหากยังรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการ และยังมุ่งมั่นสร้างเขื่อนต่อไป ก็ยิ่งจะทำให้การเผชิญหน้าระหว่างชุมชนผู้ได้รับผลกระทบกับรัฐแหลมคมมากขึ้น

.

ที่มา : www.thaingo.org