เนื้อหาวันที่ : 2008-06-05 13:44:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1834 views

น้ำตาลขอนแก่น ขยายไลน์หาพันธมิตรรุกผลิตสารเคมีจากเอทานอล เล็งขยายพื้นที่ในเกาะกง

บมจ.น้ำตาลขอนแก่น พลิกกลยุทธ์หันหาพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนผลิตสารเคมีที่ใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นปลาย ลดความเสี่ยงภาวะเอทานอลล้นตลาด ไม่มั่นใจมาตราการสนับสนุนใช้ E85 ภาครัฐจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่

บมจ.น้ำตาลขอนแก่น(KSL)พลิกกลยุทธ์หันหาพันธมิตรต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนผลิตสารเคมีที่ใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นปลาย ลดความเสี่ยงภาวะเอทานอลล้นตลาด คาดได้จะได้ข้อสรุปภายในปี 51 ขณะนี้เจรจาอยู่ 3-4 ราย ขณะที่ยังไม่มั่นใจมาตราการสนับสนุนของภาครัฐในการใช้ E85 จะเกิดผลสำเร็จหรือไม่

.

สำหรับผลประกอบการในปี 51 คาดว่ารายได้จะเติบโต 10-15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 9.1 พันล้านบาท จากการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณอ้อย น้ำตาล และผลผลิตเอทานอล และคาดว่าปี 52 เติบโดต่อเนื่องอีก 20% หลังโรงงานเอทานอลแห่งที่ 2 แล้วเสร็จ

.

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ KSL กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดเอทานอลเป็นตลาดของผู้ซื้อ ราคาขายทุกวันนี้อยู่ที่ประมาณ 17 บาท/ลิตร เป็นราคาอ้างอิงจากบราซิล ขณะที่โรงงานผลิตเอทานอลก็มีจำนวนมาก ฉะนั้น บริษัทจึงมองโครงการพัฒนาเอทานอลไปผลิตเป็นสารเคมีที่สามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นได้ นอกเหนือจากธุรกิจน้ำมัน ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างคัดเลือกพันธมิตรต่างประเทศที่อยู่ระหว่างเจรจา 3-4 ราย เพื่อเข้าร่วมทุนผลิตสารเคมีที่ใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

.

"ผมจะหันไปผลิตเป็นสารเคมี  อย่ามองเอทานอลเป็นน้ำมัน แต่เป็นสารเคมีที่นำไปเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมสี  ส่วนผสมในขวดพลาสติก และอืนๆ  เราจะพัฒนาเป็นสารเคมีต่อเมื่อเราได้พาร์ตเนอร์และเทคโนโลยี ในเมื่อเราเป็นคนแรกที่จะได้เลือกแล้ว  เราก็ต้องเลือกให้ดีที่สุด  ในเมื่อเรามีโอกาสเลือก ช้าอีก 6 เดือนก็ไม่เป็นไร ผมคิดว่าภายในปีนี้ก็จะได้ข้อสรุป"  นายชลัช กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

.

นายชลัช กล่าวว่า รูปแบบโครงการผลิตสารเคมีจากเอทานอลจะจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ และเข้าร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีเทคโนโลยี เพื่อจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย  "เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะเราไม่มีความชำนาญและเทคโนโลยี  แต่อย่างน้อยได้ใช้เอทานอล โดยเราไม่ต้องง้อบริษัทน้ำมัน" นายชลัช กล่าว

.

นายชลัช มองยโยบายพลังงานทดแทนที่เร่งรัดใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์สูตรอี 85 (E85) ว่า เป็นเรื่องอนาคตมากกว่า ไม่ใช่ประกาศวันนี้แล้วจะขายได้วันนี้ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีนโยบายออกมาเสียเลย คงได้แต่หวังว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องนี้  เพราะถ้าคิดว่านโยบายดีก็ควรจะทำ  แต่วันนี้เขามองว่าว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่นโยบาย ปัญหาอยู่ที่ปั๊มว่าจะ มีไม่เพียงพอ

.

นายชลัช กล่าวว่า ในปี 51 บริษัทมีปริมาณหีบอ้อยได้ 5.8 ล้านตัน สูงกว่าปี 50 ที่หีบอ้อยได้ 5.2 ล้านตัน จึงคาดว่ารายได้ปีนี้จะโต 10-15% จากปีก่อนที่มี 9.1 พันล้านบาท โดยผลประกอบการในไตรมาส 2/51 (สิ้นสุด เม.ย.) คาดว่าทั้งรายได้และกำไรน่าจะดีกว่าไตรมาส 1/51 เนื่องจากอยู่ในช่วงหีบอ้อย  ปีนี้รายได้ก็น่าจะเติบโตเพราะอ้อยก็เพิ่ม น้ำตาลก็เพิ่ม เอทานอลก็ขายได้เพิ่มขึ้น  รายได้น่าจะเพิ่มขึ้น  10-15% จากปีที่แล้ว" นายชลัช กล่าว ส่วนมาร์จิ้นในปีนี้คงไม่หวือหวา ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มี ประมาณ 8-10% แต่เชื่อว่ากำไรสุทธิดูน่าจะดีขึ้นกว่าปีก่อน ที่มี 835.86 ล้านบาท

.

นายชลัช คาดว่า  ในปี 52 รายได้จะเติบโตอีกประมาณ 20% จากโครงการปลูกอ้อยในกัมพูชาและลาวที่จะได้ผลผลิต รวมทั้งการขายน้ำตาลส่งออกไปอียูจากผลผลิตในลาวและกัมพูชาที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ซึ่งจะมีมาร์จิ้นสูงถึง 30-40% จากราคาตลาดโลก ขณะที่ราคาน้ำตาลโลกอยู่ระหว่าง 11-12 เซนต์/ปอนด์ แต่ในตลาดอียูขายได้เกือบ 20 เซนต์/ปอนด์ ด้านโรงงานเอทานอลจะผลิตเต็มกำลังการผลิต 45 ล้านลิตร/ปีในปีนี้ จากปีก่อนที่ผลิตเพียงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิต โดยบริษัทส่งออกผลผลิตไปขายที่สิงคโปร์ 30-40% ของกำลังการผลิต

 .

ส่วนโรงงานเอทานอล แห่งที่ 2  คาดว่าจะเริ่มสร้างต้นปี 52 หรือปลายปี 51 และจะแล้วเสร็จราวปลายปี 52 โดยมีกำลังการผลิต 60 ล้านลิตร/ปี  คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปี 53 หลังจากเริ่มเดินเครื่องประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ.53 โครงการนี้ รวมเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท โดยจะเป็นงบสร้างโรงงานน้ำตาลประมาณ 60% มีกำลังผลิตหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตันอ้อย/ปี 

 .

ขณะที่โรงงานเอทานอลใช้เงินทุนประมาณ 800-1,000 ล้านบาท และ โรงไฟฟ้า ใช้ประมาณ  1,000 ล้านบาท ขณะนี้กำลังตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งโรงงานระหว่าง จ.สระแก้ว หรือ  จ.กาญจนบุรี 

 .

KSL ได้ลงทุนโครงการโรงงานน้ำตาล ในสปป.ลาว และ กัมพา รวมใช้เงินลงทุน 130 ล้านเหรียญ โดยลงทุนในกัมพูชา 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ในสปป.ลาว  30 ล้านเหรียญสหรัฐ  แหล่งเงินกู้จากธนาคารจาก project finance คาดสิ้นปี 51 เสร็จ มีกำลังการผลิต 2 โรงงาน รวมกัน 1.5  ล้านตันอ้อย/ปี  

 .

และบริษัทมีแผนหาพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีกในเกาะกง ประเทศกัมพูชา เพราะยังเห็นโอกาสขยายธุรกิจเพิ่ม เพราะยังมีพื้นที่ว่างอยู่อีกมาก โดยขณะนี้กำลังขอนุมัติพื้นที่อยู่  ขณะที่ในสปป.ลาว ไม่มีพื้นที่พอจะขยายได้แล้ว  ถ้ามีโอกาสที่กัมพูชาเราคงขยายต่อ ขณะนี้อยู่ขั้นตอนขออนุมัติพื้นที่เข้าซื้อประมาณ  1.2 แสนไร่  ในเกาะกง  ส่วนลาวคงไม่ขยายเพิ่ม" นายชลัช กล่าว  ทั้งนี้ ปัจจุบัน KSL มีพื้นที่ปลูกอ้อย ในสปป.ลาว  6 หมื่นไร่ ในสะวันนะเขต  และในกัมพูชา 1.2 แสนไร่ รวมโรงงาน ในเกาะกง