เนื้อหาวันที่ : 2008-05-21 17:40:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1603 views

ทีดีอาร์ไอ รับ 8 ปี เอสเอ็มอีไทย ผู้ประกอบการอ่วม!! เงื่อนไขเพียบ เตรียมตัวรอเจ๊งช่วงธุรกิจตกต่ำ

เอสเอ็มอีไทยเตรียมตัวเจ๊งภายใน 8 ปี หลังงัดข้อกับเงื่อนไขเพียบ ทีดีอาร์ไอเสนอ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในช่วงธุรกิจตกต่ำ เพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี เปิดโอกาสให้บริษัทขนาดเล็กมาลงทุน และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์

น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย (ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการวิจัยถึงนโยบายเอสเอ็มอีต่อผู้ประกอบการในรอบ 8 ปีว่า ภาพรวมในการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่ได้ครอบคลุมถึงกิจการของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ( เอสเอ็มอี.) 

.

พบว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากยังไม่ทราบว่ารัฐมีมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการ เพราะหลักคิดของมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้กับเอสเอ็มอีถือว่ามีประโยชน์มาก ถ้าหากผู้ประกอบการเข้ามาใช้สิทธิได้จริง ๆ ก็จะสามารถส่งเสริมเอสเอ็มอีได้ดีขึ้นโดยเฉพาะ สิทธิประโยชน์ที่รัฐส่งเสริมให้กับเอสเอ็มอี เช่น มาตรการจากสรรพากร ศุลกากร และ บีโอไอ

 .

อย่างไรก็ตามสิทธิประโยชน์ ที่เอสเอ็มอีได้รับผลมากที่สุด คือ มาตรการสรรพากร ที่มีผู้เข้ามารับสิทธิถึงร้อยละ 98 เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เข้าถึงง่ายและชัดเจน เช่น เงื่อนไขที่ว่าหากเอสเอ็มอีใดมีรายได้ต่ำกว่ากำไร 1 ล้านบาทต่อปี สามารถชำระภาษีเงินได้เพียง 15-20% หรือถ้ากำไรต่ำกว่า 3 ล้านบาท ก็ชำระภาษี 25% ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็รับทราบ

 .

สำหรับมาตรการใหม่ ในการหักค่าเสื่อมสำหรับเอสเอ็มอี ที่มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเสื่อมสำหรับ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ อาคาร โรงงานเท่านั้น ตรงนี้รัฐกลับไม่มีข้อมูลว่า มีเอสเอ็มอีที่เข้าสิทธิประโยชน์นี้จริงเท่าใด เพราะมาตรการหักค่าเสื่อมให้สิทธิพิเศษไม่ได้แยกถึงเครื่องจักรกล ขณะนี้จึงไม่สามารถประเมินได้ว่ามาตราการที่ออกมาช่วยได้จริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูข้อมูลแล้ว

 .

"ปัญหาตรงนี้ เพราะว่า เวลายื่นเสียภาษีอากรตาม พรฎ.ปี 2550 มีคอลัมน์ว่าให้หักค่าเสื่อม แต่ไม่ได้แยกว่าเป็นค่าเสื่อมของ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ อาคาร โรงงาน แต่กลับรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน จึงไม่สามารถทราบว่าเอส เอ็มอีที่ยื่นใช้สิทธิหักค่าเสื่อมตามรายการหรือไม่ แม้สรรพากรจะมีข้อมูลแต่ไม่สมบูรณ์มากนัก"

 .

ผอ.ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า อุปสรรคในมาตรการส่งเสริมการร่วมทุนในลักษณะ "เวนเจอร์แคปปิตอล"เพื่อเข้ามาร่วมกับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก จากมาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้กับบุคคลที่เข้ามาร่วมลงทุน แต่กลับมีเงื่อนไขว่าบุคคลประเภทใดที่จะเข้ามาลงทุนลักษณะนี้ได้ ซึ่งตรงนี้สรรพากรระบุว่า คนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ มีเงินทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และปีแรกต้องลงทุนในเวนเจอร์แคปปิตอลโดยนำเงิน 20% ของทุนจดทะเบียนมาลงทุนและเพิ่มขึ้นทุกปี 40% 60% และ 80% ตามลำดับ รวมทั้ง ต้องไปจดทะเบียนกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ต.ล.)

 .

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้มาจดทะเบียนในลักษณะเวนเจอร์แคปปิตอล เพียง 2 รายเท่านั้นและยังติดสิทธิประโยชน์ในการที่จะต้องลงทุนในปีแรก 20% ของเงินทุนจดทะเบียน เช่น หากจดทะเบียน 200 ล้านบาท ก็ต้องลงทุนอย่างน้อยถึง 40 ล้านบาท ดังนั้นทีดีอาร์ไอจึงมีข้อเสนอว่าการลงทุนในปีแรก 20% นั้น ควรจะลดจำนวนเปอร์เซ็นต์ลงในปีแรก เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดเล็กมาลงทุน และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์เท่านั้น

 .

ผอ.ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า อุปสรรคในมาตรการการคืนภาษีทางศุลกากรให้กับเอสเอ็มอี เป็นหนึ่งที่พบซึ่งแตกต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ที่นำใบเสร็จนำเข้ามาขอคืนภาษีหลังจากส่งออก แต่เอสเอ็มอีนั้นจะได้เมื่อดำเนินการในลักษณะเหมาจ่ายหรือนำสูตรการผลิตมาทำเรื่องการขอคืนภาษี โดยเป็นการคืนภาษีตามสัดส่วนการผลิตแต่ปัญหากลับเกิดขึ้นตรงสูตรการผลิตที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาที่ขออนุมัติจากกรมศุลกากร หากมีการเปลี่ยนสูตรก็ต้องมาปรับการคืนภาษีใหม่ ตรงนี้ทำให้การอนุมัติคืนภาษีมีความล่าช้า ซึ่งแตกต่างกลับตลาดที่ต้องการสินค้าอย่างรวดเร็ว

 .

ดังนั้น ควรจะปรับวิธีโดยให้ผู้ผลิตส่งออกสินค้า รับรองตัวเองไปก่อน โดยศุลกากรสามารถที่จะเข้ามาตรวจสอบภายหลังได้ หรือขั้นตอนรัฐในด้านความเชี่ยวชาญก็เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการ เป็นต้น

 .

ผอ.ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า สิทธิประโยชน์ของเอสเอ็มอีของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ.) นั้น จากผลสำรวจพบว่าปัจจุบันมีผู้เข้ามารับสิทธิประโยชน์เพียง 1,000 รายเท่านั้น จากตัวเลขเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 3 แสนราย หรือ 3.02% ที่เข้ามารับ สิทธิประโยชน์ โดยผู้ที่มารับสิทธิประโยชน์สามารถผ่านหลักเกณฑ์จากบีโอไอถึง 90% แต่ปัญหาเกิดจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากไม่ได้เข้ามาขอรับสิทธิการลงทุน เนื่องจากเห็นว่าอาจจะมีคุณสมบติไม่ครบถ้วน

 .

ทั้งนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่เข้ากับหลักเกณฑ์เงื่อนไข 7 หมวดที่บีโอไอส่งเสริม เช่นรถยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ แต่เมื่อมีการเพิ่มหมวดผลผลิตทางการเกษตร ทำให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอเพิ่มขึ้นจาก 700 ราย (อุตสาหกรรมหนัก) เป็น 1,000 ราย ขณะที่การส่งเสริมบีโอไอให้กับธุรกิจขนาดเล็กก็เพิ่มขึ้น แม้จะพบว่า ทุนจดทะเบียนเอสเอ็มอีจะลดลงจาก 1 ล้านบาทเป็น 5 แสนบาทแล้ว แต่มีผู้มายื่นจดทะเบียนเอสเอ็มอีกับบีโอไอ ซึ่งมีเงื่อนไขที่จะต้องเป็นสินค้าโอทอป เพียงปีละ 20 รายเท่านั้น