สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสการบริโภคนิยมที่ทำให้ประชาชน พลเมืองต้องตกเป็นลูกค้า ถูกชักชวน โน้มน้าวให้ซื้อสินค้าต่างๆ มากมาย อาทิ การเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่วิ่งกันเต็มท้องถนน ซึ่งสิ่งที่ตามมานั่นก็คือ จำนวนของผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ และดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นด้วย
โดย : ปฏิวัติ เฉลิมชาติ |
. |
สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสการบริโภคนิยมที่ทำให้ประชาชน พลเมืองต้องตกเป็นลูกค้า ถูกชักชวน โน้มน้าวให้ซื้อสินค้าต่างๆ มากมาย อาทิ การเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่วิ่งกันเต็มท้องถนน ซึ่งสิ่งที่ตามมานั่นก็คือ จำนวนของผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ และดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นด้วย |
. |
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างทันท่วงที ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว พบว่าการใช้สิทธิของผู้ประสบภัยยังมีข้อจำกัดอยู่มากมาย และไม่เอื้อต่อผู้ใช้ เช่น มีขั้นตอนยุ่งยาก บริษัทประกันภัยเรียกเอกสารหลักฐานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คนขับไม่มีใบขับขี่ หรือต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดในส่วนค่าชดเชยซึ่งจะต้องใช้เวลานาน |
. |
โดยทางเลือกสำหรับคนที่พอจะมีเงินก็จะเลือกวิธีการจ่ายเงินของตนเองไปก่อนแล้วค่อยเอาใบเสร็จ ไปติดต่อขอรับค่าชดเชยจากทางบริษัทประกันภัยทีหลังซึ่งก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถเบิกเงินจำนวนดังกล่าวคืนได้ หรือบางทีก็เลือกที่จะใช้สิทธิอื่น ๆ แทน เช่น สวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม เป็นต้น |
. |
อย่างไรก็ตามยังมีกลุ่มบุคคลที่ไม่มีทางเลือกอื่น ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น คือ กลุ่มผู้ใช้บริการที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ที่จะต้องแบกรับภาระในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง หรือตกเป็นภาระของโรงพยาบาลที่จะต้องขอสงเคราะห์จ่ายค่ารักษาเท่าที่มีความสามารถจ่ายได้ ซึ่งมองว่าเป็นการโยนภาระในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ทางบริษัทที่รับทำประกันภัย ควรจะเป็นผู้จ่ายแต่กลับหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่าย และผลักภาระให้กองทุนอื่นจ่ายแทน |
. |
จากการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 46 จังหวัดทั่วไประเทศ ได้ร่วมกันศึกษาปัญหาของผู้ประสบภัยจากรถที่ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถใน 48 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อปี 2549 พบว่า ผู้ประสบภัยจากรถส่วนใหญ่คิดเป็นประมาณ 55.3 % ของกลุ่มตัวอย่างไม่ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่เลือกที่จะใช้สิทธิอื่น ๆ แทน เนื่องจากพบว่ามีความยุ่งยากในการเดินเรื่อง ต้องเสียเวลาในการติดตามนานถึงแม้ว่าจะเป็นการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยไม่เสียค่าใช้จ่ายมากก็ตาม |
. |
ส่วนอีก 42 % ของผู้ประสบภัยจากรถที่ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก็ยังไม่ได้รับสิทธิอย่างแท้จริง เพราะมีปัญหามากมายจากการขอใช้สิทธิ เช่น ทางบริษัทกำหนดระเบียบและขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน มีการเรียกเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณามากมายเกินความจำเป็น ทางบริษัทประกันภัยใช้เวลานานในการพิจารณา หรือบางทีหาเหตุมาบ่ายเบี่ยงที่จะไม่ให้ตนเองต้องจ่ายค่าสินไหม หรือว่าจ่ายให้น้อยที่สุด เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ประชาชนมีภาระด้านการเงินซ้ำซ้อนในการจ่ายเบี้ยประกันภัย และการจ่ายค่ารักษาพยาบาล |
. |
เมื่อพิจารณาดูว่าจำนวนปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นจากการนำรถไปจดทะเบียนเสียภาษีกับกรมการขนส่งที่บังคับให้รถทุกคันจะต้องทำประกันก่อน นั่นก็คือจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นของทางบริษัทประกันภัยที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่มีเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคจำนวนมากได้พูดทำนองเดียวกันว่า "การขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. มีความยุ่งยาก เสียเวลาทำมาหากิน บริการหลังการขายไม่มีคุณภาพ ไม่เอาใจใส่ลูกค้า" ซึ่งทางกลุ่มผู้ใช้บริการเองก็มีข้อเสนอต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ |
. |
1) อยากจะให้ทางบริษัทประกันที่ทางผู้ใช้บริการทำประกันเอาไว้ด้วย ออกมาเป็นธุระจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้กับผู้ประสบภัย (ผู้ซื้อบริการจากท่าน) ด้วยตนเอง เช่น การไปดูสถานที่เกิดเหตุ หรือดำเนินการทางด้านเอกสารต่าง ๆ เป็นต้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระของผู้ประสบภัยที่จะต้องวิ่งเต้น หรือดิ้นรนด้วยตนเองเพียงลำพัง เพราะมองว่าเมื่อเราซื้อบริการของคุณแล้วคุณก็ควรจะดูแลเรา และให้บริการเรา |
. |
2) หรือถ้าหากทางบริษัทไม่สามารถที่จะมาวิ่งดำเนินเรื่องให้กับผู้ประสบภัยได้ด้วยตนเองโดยตรง ก็น่าจะมีการแจ้งต่อผู้เสียหายซึ่งอาจจะทำเป็นหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร หรือส่งเจ้าหน้าที่มาทำหน้าที่ให้คำแนะนำต่อลูกค้าของบริษัทที่เกิดประสบเหตุตามเงื่อนไขว่าเขาควรจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง มีเอกสารหลักฐานอะไรบ้างที่จะต้องยื่นและจะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ถึงจะได้รับการพิจารณาจ่ายค่าทดแทนให้ |
. |
3) ในเรื่องของหลักฐานเอกสารที่จะใช้ยื่น ทางบริษัทไม่ควรที่จะเรียกเอกสารหลักฐานที่ซ้ำซ้อน ยุ่งยากเกินไป เพราะบางทีเอกสารหลักฐานดังกล่าวจะต้องเสียเวลาไปติดต่อหลายครั้งกว่าจะได้มา เช่น ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเกิดความพิการของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งจากการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อจำเป็นต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าว แค่ใบรับรองจากแพทย์ผู้ทำการรักษายืนยันว่ามีความพิการก็น่าจะเพียงพอแล้ว หรือว่าถ้ากรณีพิการแขนขาขาด เพียงแค่ดูแล้วเห็นว่าเขาแขนขาดจริงก็น่าจะใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาเจอปัญหาว่าทางบริษัทประกันเรียกเอกสารจากหน่วยงานราชการที่จะต้องรับรองว่าเขาคือผู้พิการ เป็นต้น |
. |
4) บริษัทประกันควรจะแสดงบทบาทหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกค้า หรือผู้ซื้อบริการที่เกิดเหตุประสบภัยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่ผ่านๆ มาทางบริษัทเองมักจะทำตัวบ่ายเบี่ยงไม่ค่อยอยากจะรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองเท่าไหร่ กลายเป็นว่าบริษัทฯ นั้นตั้งขึ้นมาก็เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าที่จะดูแลผลประโยชน์ของลูกค้า หรือผู้ซื้อบริการ |
. |
5) ให้พิจารณาทบทวนเพื่อแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ปี พ.ศ. 2535 และแก้ไข ปี พ.ศ. 2550 หรือจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และผู้บริโภคในการให้ข้อคิดเห็น และร่วมผลักดันให้มีการพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง เพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ประชาชนจะได้เข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง ก่อนที่ทุกข์ของประชาชน และผู้บริโภคทั่วไปจะมากไปกว่านี้ |
. |
ปฏิวัติ เฉลิมชาติ |
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น |
ที่มา : http://thaingo.org/writer/view.php?id=771 |