เราอาจจะเข้าใจกับความล้มเหลวนี้ดีขึ้น ถ้าเราเพียงแต่เข้าใจว่า ถึงโลกจะร้อน น้ำแข็งขั้วโลกจะละลาย โรคระบาดจะเกิด น้ำจะท่วมแผ่นดิน ฝนจะแล้ง อากาศจะแปรปรวน วิถีชีวิตผู้คนจะได้รับผลกระทบอย่างคาดไม่ถึง สำหรับกลุ่มผลประโยชน์และชนชั้นนำบางกลุ่มบนโลกใบนี้ เรื่องของธุรกิจก็ยังเป็นธุรกิจอยู่วันยังค่ำ และก็ไม่มีทางที่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปได้
ศจินทร์ ประชาสันติ์ |
. |
หลายคนที่เพิ่งหันมาสนใจติดตามการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างผู้เขียนคงรู้สึกผิดหวังไม่น้อยกับผลการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องโลกร้อนที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพราะไม่เกิดข้อตกลงใดๆ ที่จะนำไปสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอย่างจริงจัง |
. |
แต่เราอาจจะเข้าใจกับความล้มเหลวนี้ดีขึ้น ถ้าเราเพียงแต่เข้าใจว่า ถึงโลกจะร้อน น้ำแข็งขั้วโลกจะละลาย โรคระบาดจะเกิด น้ำจะท่วมแผ่นดิน ฝนจะแล้ง อากาศจะแปรปรวน วิถีชีวิตผู้คนจะได้รับผลกระทบอย่างคาดไม่ถึง |
. |
สำหรับกลุ่มผลประโยชน์และชนชั้นนำบางกลุ่มบนโลกใบนี้ เรื่องของธุรกิจก็ยังเป็นธุรกิจอยู่วันยังค่ำ และก็ไม่มีทางที่แปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปได้ |
. |
สัปดาห์ที่แล้ว มีงานสัมมนาเล็กๆ งานหนึ่งจัดโดยโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส) มีนักวิชาการจากต่างประเทศมาร่วม 2 ท่าน ท่านหนึ่งคือ ดร. ไมเคิล ดอร์เซย์ นักวิชาการและนักกิจกรรมชาวแอฟริกันอเมริกันแห่งคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยดาร์ดเมาธ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกท่านคือคุณแลรี่ ลอห์แมนน์ นักวิจัยและนักกิจกรรมชาวสหรัฐ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง การค้าคาร์บอน จากองค์กรชื่อคอร์เนอร์เฮาส์ |
. |
ทั้งสองคนเป็นผู้ติดตามการแก้ไขปัญหาโลกร้อนมาอย่างใกล้ชิด และก็ได้ไปเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมที่บาหลีมาด้วย สิ่งที่น่าสนใจในงานสัมมนานี้ คือ หลังจากที่รับฟังทั้งสองท่าน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เราจะเห็นการปะติดปะต่อของจิ๊กซอว์แต่ละตัว ตั้งแต่ภาพการเมืองระดับโลกที่เชื่อมต่อกับภาพประเทศกำลังพัฒนาและภาพของประเทศไทยได้อย่างพอดิบพอดี ที่น่าเศร้าก็คือ ทันทีที่เราเห็นโครงร่างทั้งหมด ความหวังที่มีต่อระบบการแก้ปัญหาปัจจุบันก็แทบไม่เหลือเลย และหนทางเดียวที่จะเป็นไปได้ คือ การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ในการมองโลกและการแก้ปัญหาอย่างถอนรากถอนโคนเท่านั้น |
. |
4 แก๊งค์กวนโลก |
ดร. ดอร์เซย์ พูดถึงตัวละคร 4 กลุ่มที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการชี้นำทิศทางการแก้ปัญหาโลกร้อนในระดับโลก(ซึ่งดูเหมือนจะชี้ผิดมากกว่าชี้ถูก) กลุ่มแรกสุด คือกลุ่มที่ปฏิเสธเสียงแข็งว่า ปัญหาโลกร้อนไม่มีจริง หนึ่งในนั้น คือ บริษัทเอ็กซอน โมบิล บรรษัทค้าน้ำมันข้ามชาติที่เรารู้จักกันดี |
. |
ในปี 2541 เอ็กซอน โมบิล ส่งบันทึกช่วยจำถึงทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง มีใจความว่าบริษัทได้จัดทำแผนการสื่อสารขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์กับประชาชน สื่อมวลชนและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะให้คนเหล่านั้นเกิดความลังเลสงสัยในความไม่แน่นอนของวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ทำให้คนไม่แน่ใจว่าปัญหาโลกร้อนเกิดขึ้นจริงหรือไม่ |
. |
บริษัทนี้มีประวัติการใช้จ่ายเงินสนับสนุนนักการเมืองสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2532 และก็ให้เงินสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งมาตั้งแต่ปี 2541 ในปี 2549 เอ๊กซอน โมบิลจ่ายเงินประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯสนับสนุนอุตสาหกรรมกว่า 40 องค์กรที่ไม่ต้องการจะเชื่อว่ามีปัญหาโลกร้อน |
. |
ไม่แปลก ที่เอ็กซอน โมบิล พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้คนในสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ เชื่อว่าโลกเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศอะไรกันนักกันหนาอย่างที่นักวิทยาศาสตร์เขาพูดกัน เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งเป็นตัวละครกลุ่มที่สองจะได้รับผลกระทบเสียหายโดยตรงหากคนทั้งโลกหันมาตั้งคำถามว่า ใครมีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นและคุณจะแสดงความรับผิดชอบได้อย่างไร |
. |
และเป็นการบังเอิญอย่างมากที่ในอุตสาหกรรมนี้ บริษัทเอ็กซอน โมบิลก็เป็นบริษัทที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ของบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายทั่วโลก รายได้ของบริษัทแต่ละปีคิดเป็นจำนวนเงินถึงเกือบ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นรายได้ต่อนาทีก็ประมาณ 8 หมื่นเหรียญสหรัฐฯเท่านั้นเอง!!! และในช่วงที่สหรัฐฯประสบภัยจากเฮอริเคนแคทรินา (ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นผลพวงมาจากโลกร้อน) บริษัทนี้บริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นรายได้ที่ต้องสูญเสียยังไม่ถึง 3 ชั่วโมงดีเลย จะเห็นได้ว่าผลประโยชน์มันมหาศาลขนาดไหน |
. |
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่หากินกับกลไกการแก้ปัญหาโลกร้อน อย่างที่รู้จักกันดีในนาม การค้าคาร์บอน (Carbon Trading) ซึ่งดร.ดอร์เซย์ได้ยกตัวอย่างของตลาดคาร์บอนในยุโรป ที่รัฐบาล “แจกฟรี” ใบอนุญาตโควต้าการปล่อยคาร์บอนให้กับภาคอุตสาหกรรมตามที่อุตสาหกรรมร้องขอ โดยหวังว่าจะจูงใจให้อุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซลงในอนาคต แต่ผลปรากฏว่า ใบอนุญาตที่ได้รับนั้นเกินกว่าระดับการปล่อยก๊าซจริงของอุตสาหกรรม |
. |
พวกเขาก็เลยถือโอกาสเอาโควตาส่วนที่เหลือไปขายต่อทำกำไรเสียเลย สุดท้ายระบบนี้ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ กลายเป็นภาษีอัตราถอยหลังที่ทำให้คนค้าขายคาร์บอนได้กำไรพูนกระเป๋า แถมด้วยการปล่อยก๊าซที่สูงขึ้น |
. |
ส่วนกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (บางกลุ่ม) ซึ่งกลายไปเป็นพวกเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปแล้ว โดยเสนอทางออกให้กับสังคมโลกไม่ต่างอะไรจากทางออกของอุตสาหกรรมเหล่านั้น เช่น สนับสนุนให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือเสนอให้ใช้การค้าขายคาร์บอนในการแก้ปัญหา (แบบหลอกๆ) ต่อไป |
. |
ภาวะมืดบอดตามัวและความตะกละตะกรามของคนที่เข้าไปร่วมกำหนดชะตากรรมของประชากรโลกเช่นนี้ทำให้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าเรือไททานิคลำที่มีชื่อว่า “โลก” จะหลีกพ้นทางของก้อนน้ำแข็งมหึมาข้างหน้าได้อย่างไร เพราะนักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้กล่าวไว้แล้วว่า ผลกระทบของโลกร้อนหลายอย่างเกิดขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์ไว้ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในไม่กี่สิบปีนี้ |
. |
วาทกรรมแก้โลกร้อน…แก่นคือเปลือก เปลือกคือแก่น |
ผู้เข้าร่วมประชุมท่านหนึ่งถามว่า…แม้สิ่งที่อาจารย์พูดมาทั้งหมดอาจจะเป็นปัญหา แต่ว่าเรายังจะฝากความหวังไว้กับพิธีสารเกียวโตได้หรือไม่ |
. |
แลรี่ ลอร์แมน พูดถึงพิธีสารเกียวโตอย่างไม่อ้อมค้อมเลยว่า ใครๆ ก็รู้ว่าข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงทางการค้า ไม่ใช่ข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อม และเขียนโดยสหรัฐฯ ขนานแท้ มีเป้าหมายว่าทำอย่างไรถึงจะแปรให้วิกฤตโลกร้อนเป็นประโยชน์ และก็นำมาสู่การสร้างตลาดคาร์บอนขึ้น ดังนั้น การประชุมที่บาหลีจึงเป็นความต่อเนื่องของพิธีสารเกียวโตซึ่งไม่มีอะไรใหม่ และ ก็ช่วยโลกร้อนได้ 0.000% นั่นก็คือ ไม่ได้ช่วยอะไรให้มันดีขึ้นมาเลย |
. |
ซ้ำร้าย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศกำลังพัฒนา ยังมีกลไกการค้าคาร์บอนซึ่งอุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้วสามารถจะได้รับสิทธิปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นหากลงทุนในโครงการที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศกำลังพัฒนา นักธุรกิจและนักวิทยาศาสตร์บางส่วนบอกว่า เพราะต้นทุนของประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซเรือนกระจกมันต่ำดีก็เลยมีโครงการต่างๆ เช่น การปลูกป่า ปลูกยูคาลิปตัสในบราซิลและอินโดนีเซียให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกค้าคาร์บอนนี้ |
. |
ฟังแนวคิดก็ทะแม่งพิลึก เพราะขณะที่ใช้เท้าข้างหนึ่งเขี่ยๆ ปลูกต้นไม้ มือที่เหลืออีกสองข้างและเท้าอีกหนึ่งไม่เคยที่จะชะลอการโกยเงินเข้ากระเป๋าและปล่อยก๊าซเรือนกระจกแม้แต่น้อย ที่ซับซ้อนไปกว่านั้น เอาเข้าจริง คนที่สร้างโครงการขายคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนาไม่ใช่ชาวบ้านตาสีตาสาอย่างที่เราอาจจะเข้าใจ แต่เป็นบริษัทซึ่งแลรี่บอกว่า 90% ของบริษัทเหล่านี้มีแต่สร้างปัญหาปวดหัวให้กับชาวบ้านและผู้คนที่อาศัยโดยรอบทั้งนั้น |
. |
คุณวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเป็นผู้ติดตามนโยบายพลังงานของไทยมาอย่างยาวนานได้ร่วมแลกเปลี่ยนและทำให้เราเห็นว่าไทยเองก็เข้าไปพัวพันกับวงจรอัปลักษณ์นั้นแล้วเหมือนกัน เพราะประเทศไทยเองก็กระตือรือร้นในการป่าวประกาศให้บริษัทนักลงทุนต่างๆ มารับโควต้าเครดิตคาร์บอนแจกฟรีจากรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อนุมัติโครงการไปแล้วจำนวนหนึ่ง ยังเหลืออีกกว่า 40 โครงการ แต่ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลก็มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกหลายแห่ง ซึ่งคุณวิฑูรย์ให้ข้อมูลว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประมาณ 500 เมกกะวัตต์หนึ่งโรงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 3 ล้านคิวบิคเมตร เทียบไม่ได้เลยกับการปลูกต้นไม้ 300,000 ต้น ซึ่งตลอดชีวิตของพวกมันสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 10 วันของการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเท่านั้น |
. |
ยิ่งไปกว่านั้น ฝันที่แท้จริงของรัฐบาลคือการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 10,000 เมกกะวัตต์ (โอ้ พระเจ้า…) |
. |
ดังนั้น หนทางสู่โลกเย็น (เย็นลงหรืออย่างน้อยไม่ร้อนขึ้น) ยังอยู่อีกไกลแสนไกลตราบเท่าที่ผู้คนโดยเฉพาะชนชั้นนำและธุรกิจที่มีอิทธิพลต่างๆยังไม่เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจ คนเหล่านี้ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา พวกเขาส่วนมากก็จะมีตรรกะในการคิดเหมือนๆ กัน คือ วิกฤตครั้งนี้ ตูจะพลิกให้เป็นโอกาสทางธุรกิจได้อย่างไร |
. |
ในประเทศไทย ซึ่งภาคพลังงานได้กลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ชั้นดีของการปั่นและสร้างเงิน ข้อทักท้วงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางจริยธรรม เหตุผลเรื่องความเป็นธรรม หรือแม้แต่เหตุผลด้านความอยู่รอดของมนุษยชาติภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่อาจเขยื้อนใจของผู้กำหนดนโยบายประเทศได้ แต่น่าเสียดาย เพราะวิกฤตครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหนๆ ภัยพิบัติและหายนะที่โลกเราประสบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น |
. |
เราไม่อาจรอให้ถึงวันที่จิตวิญญาณของชนชั้นนำกลับคืนมาเพื่อจะฝากความหวังทั้งปวงได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองทะลุให้เห็นเบื้องหลังของคำระรื่นหูว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน และฉากหลังของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีขีดจำกัด |
. |
…และเมื่อถึงวันนั้นที่เราเริ่มเห็นและเข้าใจ การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดจึงจะเกิด |
. |
ที่มา : http://www.thaiclimate.org/Articles.cfm?ID=200 |