น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก ทั่วโลกจึงเร่งพัฒนาพลังงานอื่น ๆ ขึ้นมาใช้แทนน้ำมันกันจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยซึ่งในอนาคตต้องเผชิญกับวิกฤติพลังงานอย่างแน่นอน
นักวิชาการ JGSEE วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันดีเซล เหตุจาก 2 ปัจจัย ทั้งปัจจัยภายนอก คือ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลในตลาดสิงค์โปร และปัจจัยภายในที่เกี่ยวข้องกับนโยบายอุ้มราคาน้ำมันดีเซลที่ผ่านมา แนะการหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน โดยเร่งให้มีการใช้เครื่องยนต์เบนซินมากขึ้น เพื่อลดความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่มากขึ้นของทั้งในประเทศและทั่วโลก ทั้งนี้จะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลจากตลาดสิงค์โปร และชะลอการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลก |
. |
ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลในตลาดค่าน้ำมันที่สิงค์โปรที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กอปรกับการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไทยอีก 40 สตางค์ เมื่อวานนี้ เป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยว่า ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับตัวสูงขึ้นไปกว่านี้อีกหรือไม่ ปัจจัยใดที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ และผลจากการปรับราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบอย่างไรกับภาคเศรษฐกิจของไทย |
. |
ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยว่าปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการน้ำมันดีเซลในปริมาณที่สูงขึ้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากวิกฤตราคาน้ำมันโลกเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ต้องมีนโยบายการกำหนดราคาน้ำมันให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่พุ่งสูงขึ้น จนเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม หากแต่การกำหนดนโยบายดังกล่าวมีผลให้ประชาชนในภาคครัวเรือนหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลมากขึ้น ทำให้มีความต้องการน้ำมันดีเซลในปริมาณสูงขึ้น แต่ความต้องการน้ำมันเบนซินกลับน้อยลง อีกทั้งผู้ใช้รถส่วนใหญ่ยังเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีประสิทธิภาพสูง และทนทาน เพื่อเป็นการประหยัดน้ำมันอีกทางหนึ่ง |
. |
ปัญหาที่โลกประสบอยู่ขณะนี้ คือ มีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่มากกว่าการผลิต กล่าวคือ ในการกลั่นน้ำมันดิบ 1 บาเรล จะได้อัตราส่วนของน้ำมันดีเซลต่อน้ำมันเบนซินที่คงที่ ประมาณ 2 ต่อ 1 ดังนั้น สัดส่วนการใช้น้ำมันที่สมดุลควรต้องเป็นอัตราส่วน 2 ต่อ 1 หากความต้องใช้น้ำมันดีเซลเกินดุล ทำให้การกลั่นน้ำมันดีเซลทั่วโลกไม่เพียงพอต่อความต้องการ เป็นผลให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเพียงตัวเดียวเท่านั้น |
. |
ประเทศไทยนับว่าเจอปัญหา 2 ต่อ เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีนโยบายอุ้มราคาน้ำมัน ทำให้น้ำมันดีเซลถูกกว่าน้ำมันเบนซิน การใช้เครื่องยนต์ดีเซลจึงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่หันมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ปริมาณน้ำมันดีเซลที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบไม่เพียงพอ ต้องมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลในปริมาณมาก เมื่อราคาที่ตลาดสิงค์โปรเพิ่มขึ้น จึงเกิดผลกระทบต่อการนำเข้าของประเทศไทย อีกประการหนึ่ง เมื่อความต้องการน้ำมันเบนซินลดน้อยลง ทำให้ต้องส่งออกน้ำมันเบนซินส่วนที่เหลือจากการกลั่นปกติ ซึ่งในการส่งออกมักถูกกดราคาให้ต่ำลง เนื่องจากความต้องการน้ำมันเบนซินทั่วโลกมีน้อยเช่นเดียวกัน |
. |
ผศ.ดร.จำนง ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาภายในประเทศ โดยการเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลให้สูงขึ้นมาใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซิน เพื่อจูงใจให้ประชาชนกลับมาใช้น้ำมันเบนซินเหมือนเดิม เพื่อสร้างสมดุลในการใช้น้ำมัน ทำให้ไม่ต้องนำเข้าน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศที่มีราคาแพงขึ้น และไม่ต้องส่งออกน้ำมันเบนซินในราคาถูก ซึ่งไม่เพียงเป็นการแก้ไขปัญหาในประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ทั่วโลกมีการปรับสมดุลการใช้น้ำมันให้เหมาะสม ราคาน้ำมันโลกจะเกิดการชะลอตัว และไม่เป็นการเร่งอัตราการผลิตน้ำมันโลก |
. |
น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก ฉะนั้นทั่วโลกจึงเร่งพัฒนาพลังงานอื่น ๆ ขึ้นมาใช้แทนน้ำมันกันจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย แต่สำหรับประเทศไทยนั้นขณะนี้พบว่ายังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านพลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเรายังไม่มีการเตรียมบุคลากรไว้ให้พร้อม เชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติพลังงานมากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน |