กระทรวงพลังงาน เผยอยู่ในระหว่างการศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน หลัง กฟผ. ไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะเสร็จสิ้นใน 3 เดือน และรอรัฐบาลชุดใหม่ฟันธงว่าจะปรับลดผลตอบแทนการลงทุนมากน้อยเพียงใด ชี้หากลดสัดส่วนมาก ค่าไฟฟ้าก็ปรับลดได้สูง
สำนักข่าวไทยได้รายงานเกี่ยวกับการศึกษาปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานหลัง กฟผ. ไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่ากระทรวงพลังงาน กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา โดยจะเสร็จสิ้นใน 3 เดือน และรอรัฐบาลชุดใหม่ฟันธงว่าจะปรับลดผลตอบแทนการลงทุนมากน้อยเพียงใด ชี้หากลดสัดส่วนมาก ค่าไฟฟ้าก็ปรับลดได้สูง |
. |
นายวีระพล จีระประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (เรคกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ตั้งแต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่สามารถกระจายหุ้นได้ตามเป้าหมายเดิม เรคกูเลเตอร์ได้พิจารณาเรื่องโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังานแห่งชาติ (กพช.) โครงสร้างปัจจุบันจะต้องใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2551 อิงผลตอบแทนการลงทุน (อาร์โอไอซี ) ของ กฟผ. ในอัตราร้อยละ 8.39 ส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) |
. |
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ในอัตราประมาณร้อยละ 4.6 ซึ่งการศึกษาจะเสร็จสิ้นใน 3 เดือนข้างหน้า โดยกำลังพิจารณาว่า อัตราส่วนลดจะเป็นเท่าใด หากลดมากค่าไฟฟ้าฐานก็จะลงได้สูง เช่น จากระดับร้อยละ 8.39 ไปอยู่ระดับร้อยละ 5-6 เป็นต้น ทั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาส่วนเพิ่มของผลตอบแทนการลงทุน กฟน.-กฟภ. ด้วย หากเพิ่มในสัดส่วนที่สูงจากระดับร้อยละ 4.6 ค่าไฟฟ้าฐานก็จะลดลงได้น้อย การปรับสูตรโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานจะทำให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงได้อย่างแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหนต้องคำนึงถึงเรื่องเม็ดเงินลงทุนของ 3 การไฟฟ้า อย่างเหมาะสม นายวีระพล กล่าว |
. |
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ประธานเรคกูเลเตอร์ กล่าวว่า ไม่ขอออกความเห็นเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอนโยบายปรับลดค่าไฟฟ้า เพราะการจะปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานหรือไม่นั้น นับเป็นระดับนโยบาย ดังนั้น จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาสั่งการผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรคกูเลเตอร์ทำหน้าที่ศึกษา แต่จะใช้รูปแบบไหน ขึ้นอยู่กับรัฐบาล |