เนื้อหาวันที่ : 2008-04-29 08:56:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1678 views

ไทยออยล์ จับมือวิทยาลัยปิโตรเลียมฯ ผลักดันการวิจัยและพัฒนาพลังงาน

ไทยออยล์ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงาน โดยมุ่งเน้นให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ในภาคธุรกิจ โดยหัวข้อการวิจัยมาจากการระดมความคิดร่วมกันจากทั้งภาคธุรกิจและภาคการศึกษาวิจัย ซึ่งจะมีผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ

 

ไทยออยล์ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงาน โดยมุ่งเน้นให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ในภาคธุรกิจ โดยหัวข้อการวิจัยมาจากการระดมความคิดร่วมกันจากทั้งภาคธุรกิจและภาคการศึกษาวิจัย ซึ่งจะมีผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ

.

นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ กรรมการอำนวยการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธีดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้อง 704 อาคารศศปฐศาลา 1 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัญญาความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2551 – 2554

.

นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ กรรมการอำนวยการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "บริษัทฯ มีแนวคิดว่าผลงานวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในภาคธุรกิจนั้น มาจากการร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจและภาคการศึกษาวิจัย โดยทีมงานของทั้งสองฝ่ายมาระดมความคิดกันและกำหนดหัวข้อวิจัยร่วมกัน บริษัทฯ จึงพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือระยะยาวกับสถาบันการศึกษาวิจัยที่มีศักยภาพ

.

ในการนี้บริษัทฯ เลือกที่จะดำเนินโครงการร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ เนื่องจากเป็นวิทยาลัยที่มีความสามารถและศักยภาพในการทำการศึกษาวิจัยในระดับนานาชาติ มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยทางด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ซึ่งจะสนับสนุนธุรกิจของบริษัทฯ ที่มีทั้งการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในความร่วมมือกันในครั้งนี้ ทางไทยออยล์และวิทยาลัยฯ จะเน้นการวิจัยภายใต้แนวทางของการพัฒนาผลิตภัณฑ์, พลังงานทดแทน, การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และพลังงานทางเลือกสำหรับอนาคต"

.

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าผลการวิจัยภายใต้โครงการดังกล่าว สามารถที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาพลังงานต่อไป บริษัทฯ ตระหนักว่าการวิจัยและพัฒนาพลังงานเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะลดต้นทุนการผลิต ให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตที่มีความได้เปรียบด้านแหล่งทรัพยากร และหานวัตกรรมด้านพลังงานทางเลือก มาใช้แทนพลังงานที่ได้จากปิโตรเลียมซึ่งนับวันราคาจะปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลด้านการศึกษาวิจัยของชาติที่มีคุณภาพและมีจำนวนจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่จะ "บุกเบิกพลังงานที่เป็นมิตร กลั่นความคิด เพื่อชีวิตคนไทย"

.

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ประโยชน์ที่สำคัญของการร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจและภาคการศึกษา คือการนำสิ่งที่เป็นจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาประกอบกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยภาคการศึกษามีความพร้อมด้านเป็นแหล่งรวมของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

.

ในขณะที่ภาคธุรกิจมีความชำนาญและความพร้อมด้านธุรกิจและการตลาดที่จะนำเอาความรู้และผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้การทำสัญญาความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ มากกว่าความร่วมมือกันในระยะสั้น ซึ่งหวังผลในการแก้ปัญหาเฉพาะด้าน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความยินดีที่ได้ร่วมงานกับ ไทยออยล์ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในธุรกิจพลังงานของประเทศ ที่มีวิสัยทัศน์และเห็นความสำคัญของการวิจัย อันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน"

.

บมจ.ไทยออยล์ เป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 2504 เป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม 275,000 บาร์เรล/วัน บริษัทฯ ยังประกอบธุรกิจอื่นผ่านการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน ธุรกิจการผลิตพาราไซลีน และธุรกิจขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี