เนื้อหาวันที่ : 2008-04-24 11:39:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1566 views

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านตั้งเป้า 2 ปี แตะหมื่นล้าน พร้อมลงลึกระดับรากหญ้ารุกพัฒนาฝีมือแรงงานมาตรฐาน

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เดินหน้าพัฒนาตลาดรับสร้างบ้าน ตั้งเป้า 2 ปี สร้างมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านถึง 10,000 ล้านบาท พร้อมวางกลยุทธ์ถึงระดับรากหญ้าจับมือวิทยาลัยเทคนิคสร้างบุคลากรด้านงานก่อสร้างบ้านโดยเฉพาะ ล่าสุดแก้ระเบียบข้อบังคับการรับสมาชิกสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ

 .

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เดินหน้าพัฒนาตลาดรับสร้างบ้าน ตั้งเป้า 2 ปี สร้างมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านถึง 10,000 ล้านบาท พร้อมวางกลยุทธ์ถึงระดับรากหญ้าจับมือวิทยาลัยเทคนิคสร้างบุคลากรด้านงานก่อสร้างบ้านโดยเฉพาะ ล่าสุดแก้ระเบียบข้อบังคับการรับสมาชิกสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ ขณะที่งานด้านวิชาการตั้งเป้าเป็นศูนย์ข้อมูลอ้างอิงของตลาดรับสร้างบ้าน

.

นายพันธุ์เทพ ทานชิติกุล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า สำหรับแนวนโยบายของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2551 ยังคงมุ่งเน้นที่จะสร้างมาตรฐานในธุรกิจรับสร้างบ้าน ให้เป็นที่ยอมรับ รวมถึงการขยายฐานของธุรกิจรับสร้างบ้านให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายให้มูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านบาทภายในปี 2553 จากมูลค่าตลาดรวมในปี 2550 ที่ 8,500 ล้านบาท

.

นอกจากนี้จะมุ่งให้ความสำคัญตั้งแต่รากฐานของคำว่าคุณภาพของงานก่อสร้าง รวมถึงการให้ความสำคัญกับงานทางด้านการวิจัย พัฒนา และงานทางด้านวิชาการอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรับสร้างบ้านเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมูลเหตุของปัญหาส่วนใหญ่ของงานก่อสร้างเกิดจาก การขาดบุคคลากรที่มีความรู้อย่างแท้จริง และค่าตอบแทนในวิชาชีพยังต่ำกว่าความเป็นจริงเมื่อเทียบ กับทางเลือกในการประกอบวิชาชีพอื่นๆ

.

ทำให้จำนวนบุคคลากรที่เข้ามาในอุตสหกรรมมีจำนวนน้อยลง จนไม่สามารถจะพัฒนาได้ ดังนั้นโยบายของสมาคมจากนี้จะมุ่งเน้นไปยังการสนับสนุนการเพิ่มจำนวนของแรงงานและผู้ควบคุมซึ่งเป็นจักรสำคัญในการพัฒนาคุณภาพงานก่อสร้างเป็นหลักพร้อมยกระดับค่าตอบแทนหรือเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพให้ทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆ

.

ในส่วนของการพัฒนารากฐานของคุณภาพงานก่อสร้างนั้น สมาคมฯ ได้กำหนดกรอบ การดำเนินงานไว้ประมาณ 5 ปี ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมืองเปิดหลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ด้านเทคนิคการก่อสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยทางสมาคมฯ เป็นผู้สนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในการเรียนทั้งหมด

.

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการดังกล่าวก็คือ การเร่งผลิต และพัฒนาบุคลากรด้านงานก่อสร้างบ้านให้เพียงพอกับความต้องการของบริษัท รับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิก โดยโครงการดังกล่าวนอกจากจะรับสมัครให้ผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว ในส่วนของบริษัทรับสร้างบ้านที่สนใจยังสามารถส่งพนักงานเข้ามาเรียนในหลักสูตรดังกล่าวเพื่อพัฒนาความรู้เพิ่มเติมได้เช่นกัน

.

"เราตั้งเป้าที่จะสร้างฝีมือแรงงาน และสร้างมาตรฐานด้านคุณภาพให้มากขึ้น หลักสูตรที่กำหนดเราทำร่วมกับทางวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ซึ่งเมื่อนักศึกษาเรียนจบบริษัทที่เป็นสมาชิกจะเป็นผู้รับนักเรียนเข้าทำงานทั้งหมด ซึ่งคาดว่าในหนึ่งปีเราน่าจะผลิตบุคลากรที่มีฝีมือด้านงานก่อสร้างได้ประมาณ 15-30 คน" นายพันธุ์เทพ กล่าว

.

นายพันธุ์เทพ กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มเปิดภาคเรียนปีการศึกษาแรกในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งในปีแรกมีนักเรียนเข้าสมัครเต็มตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ซึ่งมีทั้งจากที่สมัครมา จากภายนอก และพนักงานของบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกส่งเข้ามาเรียน นอกจากนักเรียนดังกล่าวจะได้ศึกษาพื้นฐานด้านการก่อสร้างที่เป็นวิชาการแล้ว ในส่วนของสมาคมฯ ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ มาเป็นวิทยากรพิเศษเพื่อเพิ่มประสบการณ์จริงให้กับผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนด้วยเช่นกัน

.

โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวนอกจากจะเข้ามาช่วยในเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรแล้ว ยังสามารถช่วยยกมาตรฐาน ของบริษัทรับสร้างบ้านให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนโยบายทางด้านส่งเสริมผู้ควบคุมงานในระดับอาชีวะศึกษาแล้วนั้น สมาคมจะขอความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐหรือผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างเพื่อกำหนดวิธีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมรับสร้างบ้าน ซึ่งยังขาดแคลนอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาคุณภาพงานก่อสร้างที่ตรงประเด็นอีกทางหนึ่ง

.

นอกจากนี้ในส่วนของการพัฒนามาตรฐานงานรับสร้างบ้าน สมาคมฯ ยังมีการแก้ไขข้อบังคับในเรื่องการรับสมาชิกทั้งสามัญ และวิสามัญ ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทที่ต้องการ เป็นสมาชิกประเภทสามัญตามข้อบังคับใหม่จะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมคือต้องเป็นสมาชิกวิสามัญมาก่อนอย่างน้อย 1 ปี ต้องประกอบธุรกิจรับสร้างบ้านมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี และ มีผลงานการรับสร้างบ้านภายใน 4 ปี ไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท

.

ขณะที่ข้อบังคับเดิม ไม่ต้องเป็นสมาชิกวิสามัญก่อน เพียงแต่มีผลงาน การก่อสร้างไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น ส่วนสมาชิกประเภทวิสามัญ (รับสร้างบ้าน) มีคุณสมบัติเพิ่มเติมคือ จะต้องประกอบธุรกิจมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีผลงานไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ข้อบังคับเดิมไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการและผลงาน

.

ในส่วนของงานด้านวิชาการนั้น ปรกติสมาคมฯ จะมุ่งเน้นด้วยการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ ปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งในปี 2551 ก็จะยังคงมีงานสัมมนาทางวิชาการเช่นเดิม นอกจากนี้จะมุ่งพัฒนาข้อมูล ในเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของเศรษฐกิจ รวมถึงการวิจัยในเชิงวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยมีเป้าหมายที่จะให้สมาคมฯ เป็นศูนย์กลางข้อมูลและสถิติอ้างอิงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดรับสร้างบ้านโดยตรง

.

โดยในอนาคตอาจจะมีการจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาข้อมูลดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะที่ในด้านอื่น ๆ ก็จะมีการพัฒนาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาไม่ว่า จะเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่เกิดปัญหาการสร้างบ้านจากบริษัทรับสร้างบ้านที่ขาดจริยธรรมในการดำเนินงาน การสร้างการรับรู้ในเรื่องการรับสร้างบ้านผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมฯ โดยเฉพาะการจัดงานรับสร้างบ้าน 2008 ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 20-24 สิงหาคม 2551 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นต้น