คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/51 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.5-5.7% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 4/50 ที่ขยายตัว 5.7% โดยเป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชน การบริโภคของภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก ขับเคลื่อนไปพร้อมกันอย่างสมดุลมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/51 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.5-5.7% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 4/50 ที่ขยายตัว 5.7% โดยเป็นผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชน การบริโภคของภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก ขับเคลื่อนไปพร้อมกันอย่างสมดุลมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก |
. |
อย่างไรก็ตาม สาเหตุอีกส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาสแรกของปีก่อน ที่ในเวลานั้นการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงอย่างมาก และการลงทุนทรุดตัวลงรุนแรง |
. |
ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในระยะที่ผ่านมาของปี 2551 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยหากพิจารณาจากเครื่องชี้ในด้านอุปสงค์ (Demand Side) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2551 (ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์) ดัชนีการบริโภคของภาคเอกชน ขยายตัว 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นจาก 4.3% ในไตรมาสที่ 4/2550 ตามการปรับตัวดีขึ้นของบรรยากาศความเชื่อมั่นและความคาดหวังของผู้บริโภค ต่อทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจ ดังที่เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาที่ระดับ 80.7 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 80 เป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน |
. |
นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศในเดือนมีนาคม 2551 ก็ขยายตัวสูงถึง 18.0% โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 66,107 คัน นับเป็นยอดขายต่อเดือนที่สูงสุดในรอบ 15 เดือน ขณะเดียวกัน ภาวะการลงทุนมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัว 5.1% สูงขึ้นจาก 3.8% ในไตรมาสที่ 4/2550 ในขณะที่การส่งออกขยายตัว 24.6% ใกล้เคียงกับ 24.0% ในไตรมาสที่ 4/2550 แต่การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเกินดุลลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของระดับที่เกินดุล 6,184 ล้านดอลลาร์ฯในไตรมาสที่ 4/2550 |
. |
สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทาน (Supply Side) ในช่วง 2 เดือนแรก มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างกระจายทั่วถึงในหลายสาขาธุรกิจ ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 14.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นจาก 12.1% ในไตรมาสที่ 4/2550 ขณะเดียวกัน ดัชนีผลผลิตทางการเกษตรขยายตัว 9.1% สูงขึ้นจาก 4.1% ในไตรมาสที่ 4/2550 รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวสูง 12.4% ในช่วง 2 เดือนแรก จาก 8.8% ในไตรมาสที่ 4/2550 |
. |
แต่อย่างไรก็ตาม ผลบวกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังมีโอกาสเผชิญกับความไม่แน่นอนจากประเด็นทางการเมืองในระยะข้างหน้า ได้แก่ ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้ง |
. |
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสถัดๆ ไปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง โดยจะมีอัตราการขยายตัว 5.0% ในไตรมาสที่ 2/51 ก่อนที่จะชะลอลงมาที่ 4.6% ในไตรมาสที่ 3/51 และ 4.3% ในไตรมาสที่ 4/51 |
. |
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะยังคงมีระดับสูงที่ 4.8% และกว่าที่จะเห็นเงินเฟ้อชะลอตัวลงชัดเจนอาจต้องเป็นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐและเงินดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะเผชิญกับการปรับฐาน |
. |
อย่างไรก็ตาม ในกรณีพื้นฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 51 จะมีอัตราการขยายตัวโดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.9% ใกล้เคียงกับ 4.8% ในปี 50 โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 98 ดอลลาร์/บาร์เรล(เทียบกับ 72.5 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีก่อน), อัตราเงินเฟ้อมีค่ากลางอยู่ที่ 4.8% (จาก 2.3% ในปีก่อน), การบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนขยายตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 3.0% และ 5.6% ตามลำดับ(จากที่ต่างก็ขยายตัว 1.4% ในปีก่อน), |
. |
การใช้จ่ายของรัฐบาลเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นเป็น 1.9% ของจีดีพี(จาก 1.5% ของจีดีพีในปีก่อน), การส่งออกคาดว่าชะลอตัวลงมามีอัตราการขยายตัว 12.5%(จาก 18.1% ในปีก่อน), การนำเข้าขยายตัว 19.5%(เร่งขึ้นจาก 9.6% ในปีก่อน) ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงมาที่ 7.7 พันล้านดอลลาร์(จาก 14.9 พันล้านดอลลาร์ในปีก่อน) |