เนื้อหาวันที่ : 2008-04-09 08:16:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1549 views

สหพันธ์ผู้บริโภคเสนอรมว.พลังงานทบทวนค่าไฟฟ้า เหตุประเมินเกินจริง

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายพลังงานยั่งยืนและเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการไฟฟ้า ยื่นข้อเสนอ รมว.พลังงาน ให้ทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2551-2564 ยกเลิกการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน เกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้า และ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในวันนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายพลังงานยั่งยืนและเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการไฟฟ้า  เข้ายื่นข้อเสนอต่อพล.ท.หญิงพูนภิรมย์  ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2551-2564 (PDP2007) , ยกเลิกการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน(IPP), ทบทวนหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้า(ROIC) และ ทบทวนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า โดยจะขอรับฟังการพิจารณาของรมว.พลังงาน ในระยะเวลา 1 เดือนข้างหน้านี้

 .

ทั้งนี้ ข้อเสนอต่อกระบวนการวางแผนและการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า เพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชน  ผู้บริโภค และประเทศชาติ เสนอให้ทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP2007 ที่กำหนดภายใต้คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1,884 เมกกะวัตต์  ในขณะที่ค่าเฉลี่ยใน 15 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 914 เมกกะวัตต์เท่านั้น

 .

จากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงจนเกินจริงดังกล่าวข้างต้น นำมาสู่งบประมาณการลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งในที่สุดจะถูกผลักภาระมาสู่ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับผู้บริโภคทั้งหมด ซึ่งรวมถึงภาระความเสี่ยง ความผิดพลาด และความไร้ประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้าด้วย

 .

นอกจากนี้ ขอให้การยกเลิกการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน(IPP)  เนื่องจากอย่างน้อย 15 ปีประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใหม่

 .

รวมทั้งการทบทวนหลักเกณฑ์การคิดค่าไฟฟ้า(ROIC)   เพื่อปลดล๊อกกลไกการผลักภาระค่าไฟที่ไม่เป็นธรรมจากการกระทำผิดพลาดและความไร้ประสิทธิภาพในระบบสู่ผู้บริโภค   เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพและความผิดพลาดต่างๆในระบบไม่ถูกตรวจสอบอย่างแท้จริงและปราศจากความรับผิดชอบจากผู้ทำให้เกิดความเสียหาย

 .

และ การทบทวนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า  เนื่องจากกองทุนดังกล่าวตั้งขึ้นมาในรัฐบาลชุดที่แล้วเพื่อรองรับ สนับสนุน สร้างความชอบธรรมและช่วยเหลือโรงไฟฟ้าใหม่ให้สามารถก่อสร้างได้ง่ายขึ้น ได้รับการยอมรับจากชุมชนมากขึ้น จากเม็ดเงินของผู้บริโภคที่ลงไปสู่ชุมชน ซึ่งไม่ได้ตอบคำถามความจำเป็นว่าต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิวเคลียร์จริงหรือไม่ และมีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าหรือไม่ 

 .

สมาพันธ์ฯ เห็นว่า กองทุนดังกล่าวต้องการสร้างฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งความขัดแย้งอาจจะรุนแรงขึ้น  ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของโรงไฟฟ้าจะมีมากกว่านี้   เพราะโรงไฟฟ้าไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ได้ประโยชน์โดยตรง  ในขณะที่ประชาชนผู้เดือดร้อนจากโรงไฟฟ้าเก่าที่สร้างไปแล้ว กลับไม่ได้รับงบประมาณเพื่อแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนอย่างแท้จริง