เนื้อหาวันที่ : 2008-04-03 14:33:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1653 views

บีโอไออนุมัติส่งเสริม 7 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 6.28 หมื่นล้านบาท

บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนครั้งแรกของปีรวม 7 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 6.28 หมื่นล้านบาท โดยไฟเขียวให้ 3 ค่ายรถยนต์ มิตซูบิชิ-โตโยต้า-ทาทา ร่วมผลิตรถอีโคคาร์ เงินลงทุนประมาณ 16,670 ล้านบาท

บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนครั้งแรกของปีรวม 7 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 6.28 หมื่นล้านบาท โดยไฟเขียวให้ 3 ค่ายรถยนต์ มิตซูบิชิ-โตโยต้า-ทาทา ร่วมผลิตรถอีโคคาร์ เงินลงทุนประมาณ 16,670 ล้านบาท

.

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอซึ่งมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน มีมติอนุมัติส่งเสริมการลงทุนรวม 7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล(อีโคคาร์) จำนวน 3 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 16,670 ล้านบาท และโครงการอื่นๆ อีก 4 โครงการ รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 62,834.7 ล้านบาท

.

สำหรับโครงการอีโคคาร์ ประกอบด้วย บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,711 ล้านบาท มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 107,000 คัน โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 12% และส่งออก 88% ซึ่งมีตลาดหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น เริ่มผลิตปี 2553 ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี,

.

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,642 ล้านบาท กำลังผลิตปีละประมาณ 100,000 คัน โดยตามแผนการผลิตจะจำหน่ายในประเทศ และส่งออกสัดส่วนเท่ากัน คือ 50% ซึ่งตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน และโอเชเนีย เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2555 ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา

.

และบริษัท ทาทา มอเตอร์ ประเทศอินเดีย มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,317 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละประมาณ 100,000 คัน โดยจำหน่ายในประเทศ 48% และส่งออก 52% ซึ่งตลาดส่งออกหลักเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน เอเซียแปซิฟิก และประเทศแอฟริกาใต้ ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2553

.

นอกจากนี้ บริษัท โกลบอล ไบโอดีเซล จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตน้ำมันดีเซลจากเศษวัสดุทางการเกษตร มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,900 ล้านบาท มีกำลังผลิต 33,000,000 ลิตรต่อปี หรือประมาณ 100,000 ลิตรต่อวัน ตั้งโรงงานที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้น 183,500 ตันต่อปี ได้แก่ ทะลายปาล์มเปล่า คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 115.5 ล้านบาทต่อปี

.

บริษัท ปราจีนบุรีกล๊าสอินดัสทรี ได้รับส่งเสริมผลิตขวดแก้ว มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,165 ล้านบาท กำลังผลิตปีละประมาณ 64,800 ตัน หรือประมาณ 446,897 ขวด โดยตามแผนการผลิตขวดแก้วของโครงการนี้จะใช้วัตถุดิบที่เป็นเศษแก้วในประเทศทั้งหมด ตั้งโรงงานใน จ.ปราจีนบุรี

.

บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตน้ำมันอากาศยาน 20,000 บาเรลต่อวัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,533.7 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยโครงการนี้จะมีการติดตั้งหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันอากาศยานที่จะทำให้ได้น้ำมันอากาศยานมีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก

.

และ บมจ.ปตท.(PTT) ได้รับส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางท่อ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 41,566 ล้านบาท ซึ่งตามโครงการจะให้บริการขนส่งก๊าชธรรมชาติทางท่อปีละประมาณ 620,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต จัดส่งให้กับโรงไฟฟ้า รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ไปสิ้นสุดโครงการที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร