เนื้อหาวันที่ : 2008-04-02 09:35:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1611 views

บีโอไอ เตรียมส่งเสริมลงทุน 8 โครงการใหญ่รวมกว่า 1.07 แสนลบ.

บีโอไอ เผยการประชุมบอร์ดบีโอไอวันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้แก่ภาคเอกชน 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,613.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเลื่อนพิจารณามาจากการประชุมครั้งก่อน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดบีโอไอวันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้แก่ภาคเอกชน 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,613.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเลื่อนพิจารณามาจากการประชุมครั้งก่อน

.

โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย การขยายกิจการขนส่งทางท่อของ บมจ.ปตท.(PTT) มูลค่าเงินลงทุนรวม 80,787 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุน 41,566 ล้านบาท และค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน 39,221 ล้านบาท กิจการดังกล่าวจะให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อปีละประมาณ 620,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยวางท่อก๊าซธรรมชาติขนาด 42 นิ้ว จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ผ่านไปยัง จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และไปสิ้นสุดโครงการที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร

.

กิจการขนส่งทางอากาศของบริษัท วัน ทูโก แอร์ไลน์ส จำกัด ตามโครงการจะให้บริการเครื่องบินโดยสารแบบ MD 80 จำนวน 4 ลำ มีความจุผู้โดยสารรวมจำนวน 628 ที่นั่ง เงินลงทุนรวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 1,643 ล้านบาทให้บริการขนส่งทางอากาศแบบประจำเส้นทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และแบบไม่ประจำเส้นทางเป็นครั้งคราว

.

บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด ได้รับอนุมัติให้ขยายกิจการผลิตน้ำมันอากาศยาน(JET FUEL) โดยการติดตั้งหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันอากาศยานหรือ JET MEROX UNIT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของ UOP ประเทศสหรัฐอเมริกา มีขนาดกำลังผลิตส่วนขยายจำนวน 20,000 บาร์เรล/วัน ใช้เงินลงทุนรวมที่ดินและทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 1,533.7 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง

.

การผลิตขวดแก้วในนามบริษัท ปราจีนบุรีกล๊าส อินดัสทรี จำกัด ผลิตขวดแก้วปีละประมาณ 64,800 ตัน(หรือประมาณ 446,897 ขวด) ใช้เงินลงทุนรวมที่ดินและทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 2,245 ล้านบาท ตั้งโรงงานใน จ.ปราจีนบุรี โดยเป็นการผลิตขวดแก้วสำหรับเครื่องดื่มชูกำลัง(กระทิงแดง)เพียงอย่างเดียว ขนาด 100 C.C. และขนาด 150 C.C. ร่วมทุนระหว่างบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด ถือหุ้น 51% และ 49% ถือหุ้นโดยบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด

.

การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง(ดีเซล)จากเศษวัสดุทางการเกษตร ในนามบริษัท โกลบอล ไบโอดีเซล จำกัด ด้วยขนาดกำลังผลิต 33 ล้านลิตร/ปี หรือขนาด 100,000 ตัน/วัน ใช้เงินลงทุนรวมที่ดินและทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 3,735 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ จ.สุราษฎร์ธานี ใช้วัตถุดิบทะลายปาล์มเปล่าจำนวน 183,500 ตัน/ปี ซื้อจากบริษัท ยูนิปาล์ม อินดัสทรี จำกัด จำนวน 231,000 ตัน/ปี

.

ส่วนอีก 3 โครงการ เป็นการส่งเสริมผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลหรืออีโคคาร์(ECO CAR) ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท Tata Motors ประเทศอินเดีย ผลิตรถประหยัดพลังงานปีละ 100,000 คัน ลงทุน 7,317 ล้านบาท ชาวอินเดียถือหุ้น 100% ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง เป็นการผลิตรถประหยัดพลังงานและเครื่องยนต์ จำหน่ายในประเทศ 48% และส่งออก 52% ไปยังแถบอาเซียน เอเชียแปซิฟิก และแอฟริกาใต้

.

โครงการของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผลิตรถอีโคคาร์ปีละ 100,000 คัน ลงทุนรวม 4,642 ล้านบาท เป็นหุ้นไทย 14% และญี่ปุ่น 86% ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา โดยโตโยต้าฯ เสนอแผนการลงทุนเป็นโครงการรวมประกอบด้วยการผลิตรถอีโคคาร์ เครื่องยนต์และการจัดหาชิ้นส่วน จำหน่ายในประเทศ 50% และส่งออก 50% โดยมีตลาดส่งออกหลักไปยังอาเซียนและ Oceania

.

และโครงการของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด มีกำลังผลิตปีละ 107,000 คัน ลงทุนมูลค่า 4,711 ล้านบาท เป็นหุ้นไทย 0.2% และญี่ปุ่น 99.8% เป็นโครงการรวม(Package) ประกอบด้วยรถประหยัดพลังงานและเครื่องยนต์ ผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนเพื่อป้อนตลาดในประเทศ 12% และสัดส่วน 88% สำหรับส่งออกไปยังออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เป็นตลาดหลัก

.

เมื่อปลายปี 50 บีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ไปแล้ว 3 ค่าย ลงทุนรวม 21,750 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล(ประเทศไทย)จำกัด มูลค่า 6,700 ล้านบาท, บริษัท สยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ผลิตรถอีโคคาร์พร้อมชิ้นส่วน(ซีเคดี)มูลค่า 5,550 ล้านบาท และบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ผลิตรถอีโคคาร์และชิ้นส่วน มูลค่า 9,500 ล้านบาท