เนื้อหาวันที่ : 2006-08-09 14:26:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1718 views

กฟผ. จับมือบริษัทคันไซ ศึกษาแหล่งพลังงานไทย ลาว และพม่า

กฟผ. ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับบริษัท คันไซฯ ร่วมมือด้านเทคนิค เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศและโครงการพลังน้ำ น้ำเงี้ยบ 1 โครงการพลังน้ำ เซ คาแต้ม ในประเทศลาว และโครงการพลังน้ำทานินทายี ในประเทศพม่า

กฟผ. ลงนามบันทึกความเข้าใจ กับบริษัท คันไซฯ ร่วมมือด้านเทคนิค เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศและโครงการพลังน้ำ น้ำเงี้ยบ  1  โครงการพลังน้ำ เซ คาแต้ม ในประเทศลาว และโครงการพลังน้ำทานินทายี ในประเทศพม่า

.

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือด้านเทคนิค สำหรับการหาแหล่งพลังงานในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่าง กฟผ. กับ บริษัท คันไซ อิเลกทริค เพาเวอร์ (Kansai Electric Power CO., Inc.) จากประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องประชุม 201 อาคาร   ท.100 สำนักงานกลาง กฟผ. โดยมีนายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. และนายยาซูโอะ ชิโนมารุ ผู้จัดการอาวุโส  บริษัท คันไซฯ เป็นผู้ร่วมลงนาม

.

นายไกรสีห์   กล่าวว่า กฟผ. พยายามที่จะจัดหาแหล่งพลังงานที่มีความมั่นคง ราคาถูก เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค ภารกิจนี้เองทำให้ กฟผ. มองหาพันธมิตรที่จะสนับสนุนและสานต่อธุรกิจไปด้วยกัน คือบริษัท คันไซฯ ซึ่งเป็นองค์กรระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้า   มีประสบการณ์มายาวนานทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ และมีความพยายามในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น การศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพพลังงานใน ลาวและพม่า เป็นต้น

.

และถือเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมมือกันระหว่าง กฟผ. และคันไซฯ ในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แบ่งปัน และรวบรวมความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปในอนาคตของทั้งสององค์กรและภูมิภาค ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวตอนท้าย

.

นายนิวัตร พัฒนเสมากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวถึงที่มาของบันทึกความเข้าใจว่า เป็นผลจากการหารือก่อนหน้านี้  และได้มีความเห็นพ้องกันว่า กฟผ. และ บริษัท คันไซฯ น่าจะมีการร่วมมือกันในด้านผู้เชี่ยวชาญ และด้านเทคนิค เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการหาแหล่งพัฒนาพลังงานที่เหมาะสมทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน 

.

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. และบริษัท คันไซฯ จะเข้าไปศึกษาถึงความเป็นไปได้เบื้องต้นและความเหมาะสมในการพัฒนาพลังน้ำในประเทศลาว และพม่า เช่น โครงการพลังน้ำ น้ำเงี้ยบ  1 โครงการพลังน้ำ เซ คาแต้ม ในประเทศลาว และโครงการพลังน้ำทานินทายี ในประเทศพม่า เป็นต้น โดยใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปี   

.

การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำให้มากขึ้น ซึ่งหากในอนาคตโครงการที่ได้ทำการศึกษา มีความเหมาะสมที่จะช่วยตรึงราคาและช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ถูกลงได้ เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะนำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานต่อไป