ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าไทยและลาว ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสู่การเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" หรือ "แหล่งพลังงานสำรองในอนุภูมิภาค" เพื่อสร้างรายได้สำหรับการพัฒนาประเทศให้พ้นจากสถานะการเป็นประเทศด้อยพัฒนา
นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กำหนดจะเดินทางเยือนกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในวันที่ 25 มีนาคม 2551 เพื่อเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว เรื่อง ความร่วมมือ ในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว โดยฝ่ายลาวมีนายทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาวเป็นผู้ลงนาม |
. |
ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือที่ไทยและลาวให้ความสำคัญในลำดับต้น ความร่วมมือที่แน่นแฟ้นของไทยกับลาวมีส่วนสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาล สปป.ลาวให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสู่การเป็น แบตเตอรี่แห่งเอเชีย หรือ แหล่งพลังงานสำรองในอนุภูมิภาค เพื่อสร้างรายได้สำหรับการพัฒนาประเทศให้พ้นจากสถานะการเป็นประเทศด้อยพัฒนาภายในปี 2563 |
. |
ปัจจุบัน โครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการไฟฟ้าเหมืองถ่านหินใน สปป.ลาวต่าง ๆ มีความคืบหน้าตามลำดับ และเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ทั้งสองฝ่ายได้ ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว โดยไทยได้ตกลงขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเพิ่มจาก 5,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 ปัจจุบันมีโครงการไฟฟ้าทั้งที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) แล้ว และโครงการที่ตกลงในหลักการและอยู่ระหว่างดำเนินการรวม 10 โครงการ รวมทั้งสิ้น 5,851 เมกะวัตต์ ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารแนบ |
. |
การลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว เป็นผลสืบเนื่องจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีลาวในช่วงการเยือน สปป.ลาวอย่างเป็นทางการ ของนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ -1 มีนาคม 2551 ที่เห็นชอบในหลักการสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาโครงการพลังไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงที่บริเวณใกล้หมู่บ้านท่าลังและดอนกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี |
. |
ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ สปป.ลาวที่บริเวณบ้านกุ่มน้อยเมืองชะนะสมบูน แขวงจำปาสัก เรียกว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำฝายบ้านกุ่ม โดยจะมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐของทั้งสองประเทศกำกับดูแลและประสานงานกับบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาแล้วรายงานผลให้รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายพิจารณาตกลงต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 |
. |
ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและ สปป.ลาวได้ร่วมมือสำรวจศักยภาพและศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นที่จะพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงแบบขั้นบันไดมาเป็นลำดับเพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานสำรองที่สนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยเห็นว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังน้ำเป็นทางเลือกที่ดีเพราะเป็นพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศและทำให้มีการจัดการทรัพยากรน้ำที่เกิดประโยชน์สูงสุด |
. |
และจากการพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นเห็นว่า การพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงที่บริเวณบ้านกุ่มเป็นโครงการที่มีศักยภาพ ทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ทั้งด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า การพัฒนาพื้นที่การเกษตร การคมนาคมขนส่งทางน้ำ รวมทั้งการประมง จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต นับเป็นโครงการความร่วมมือที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศร่วมกัน |