เนื้อหาวันที่ : 2008-03-20 09:00:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1445 views

กรมการค้าต่างประเทศ เผยอียูเข้มงวดมาตรฐานความปลอดภัยสินค้า

กรมการค้าต่างประเทศ เผย สินค้าที่จำหน่ายในอียูจะต้องมีการออกแบบ และผลิตให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดนโยบายข้อบังคับด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของอียู โดยติดเครื่องหมาย CE Mark เพื่อความชัดเจน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าที่จำหน่ายในอียูจะต้องมีการออกแบบ และผลิตให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดนโยบายข้อบังคับด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของอียู โดยติดเครื่องหมาย CE Mark เพื่อความชัดเจนของการใช้ตราดังกล่าว

.

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 สภายุโรปจึงได้พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าภายในอียู 3 ฉบับ เป็นร่างข้อบังคับ (Regulation) 2 ฉบับ และ Commission Decision 1 ฉบับ เกี่ยวข้องกับสินค้ามากกว่า 20 รายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภค เภสัชภัณฑ์ ฯลฯ และสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

.

1.ร่างข้อบังคับที่เกี่ยวกับการใช้กฎเกณฑ์ด้านเทคนิคของประเทศสมาชิกสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศสมาชิกอียูอื่น (Regulation on Mutual Recognition) โดยกำหนดข้อบังคับด้าน Conformity assessment ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาความแตกต่างในการรับรองมาตรฐานสินค้าของแต่ละประเทศสมาชิก

.

โดยหน่วยงานรัฐของประเทศสมาชิกที่มีมาตรฐานสินค้าที่กำหนดขึ้นเป็นพิเศษจะต้องหาหลักฐานมาแสดงว่าสินค้านั้นไม่ตรงตามมาตรฐานของตนอย่างไร นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกจะต้องจัดตั้ง one-stop shop เป็นหน่วยประสานด้านกระบวนการ ต่าง ๆ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าด้วย

.

2. ร่างข้อบังคับที่เกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานและการตรวจสอบตลาด (Regulation setting out the requirements for accreditation and market surveillance relating to the marketing of products) ร่างข้อบังคับนี้จะจัดตั้งระบบการแต่งตั้งและรับรอง (Accreditation) ให้มีกฎเกณฑ์เดียวกันทั่วอียู และในส่วนของการตรวจสอบตลาด (Market surveillance) จะมีกฎเกณฑ์ที่ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยได้ดีขึ้น รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศนอกอียูด้วย

.

3. ข้อเสนอการกำหนดขอบเขตการวางจำหน่ายสินค้า (Decision on a common framework for the marketing of products) เน้นในเรื่องความรับผิดชอบของผู้นำเข้าสินค้าและการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ เพิ่มคำจำกัดความของตราประทับ CE mark บนตัวสินค้าซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นเพียงตรารับรองความปลอดภัยของสินค้า

.

แต่จะเป็นการให้ข้อมูลผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ที่มีตราประทับ CE Mark ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตามข้อบังคับโดยรวมของประชาคมยุโรปแล้ว อย่างไรก็ดี ตราประทับรับรองมาตรฐานของแต่ละประเทศสมาชิกยังสามารถใช้ควบคู่กับตรา CE Mark ได้

.

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ระเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอื่นได้ยากขึ้น จึงส่งผลดีต่อไทยที่ส่งออกสินค้าไปยังอียูด้วย ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าภายในอียูก็สามารถใช้บริการจาก one-stop-shop หรือ product contact points ในแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะติดตามรายละเอียดและนำเสนอให้ทราบต่อไป