เนื้อหาวันที่ : 2008-03-18 09:57:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1375 views

รถร่วมบขส.-ขสมก.ขอขึ้นค่าโดยสาร

รถร่วม บขส.ขอปรับ 9 สตางค์/กม. และรถร่วม ขสมก.ขอปรับ 1.50 -2.00 บาท ขณะที่รัฐมนตรีบอกปัดขอหารือต้นทุนค่าน้ำมันหลังเทศกาลสงกรานต์ ด้านคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางประชุมวันนี้พิจารณาข้อเรียกร้อง

คณะกก.พิจารณาข้อเรียกร้องวันนี้ก.คมนาคม 18 มี.ค.- ผู้ประกอบการรถร่วมบขส.-ขสมก. เข้าพบ รมว.คมนาคม ขอขึ้นค่าโดยสารอีกรอบชดเชยภาระน้ำมันที่สูงขึ้น โดยรถร่วม บขส.ขอปรับ 9 สตางค์/กม. และรถร่วม ขสมก.ขอปรับ 1.50 -2.00 บาท ขณะที่รัฐมนตรีบอกปัดขอหารือต้นทุนค่าน้ำมันหลังเทศกาลสงกรานต์ ด้านคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางประชุมวันนี้พิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถร่วมบริการของ บขส.และ ขสมก.

.

ช่วงบ่ายวานนี้ (17 มี.ค.) นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นข้อเรียกร้องขอปรับราคาค่าโดยสารของรถร่วมบริการ บขส.อีก 9 สตางค์ต่อกิโลเมตร จากปัญหาต้นทุนราคาน้ำมัน ดีเซลปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

นางสุจินดา กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนภาระน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้น โดยมีต้นทุนต่อตั๋วโดยสารหนึ่งใบเพิ่มขึ้นถึง 12 สตางค์ต่อกิโลเมตร แต่ผู้ประกอบการเห็นว่าหากปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งหมดประชาชนอาจได้รับความเดือดร้อน จึงขอปรับราคาแค่ 9 สตางค์ต่อกิโลเมตรเท่านั้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเห็นใจประชาชนที่จะต้องแบกรับภาระการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงจะเสนอให้ปรับค่าโดยสารหลังวันที่ 15 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าภาครัฐจะอนุมัติให้มีการปรับค่าโดยสารตามคำขอหรือไม่นั้น ผู้ประกอบการจะไม่มีการหยุดเดินรถ โดยจะไม่มีการนำประเด็นดังกล่าวมาเป็นข้อต่อรองในการปรับค่าโดยสารเด็ดขาด

.

ด้านนายสันติ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ประกอบการรถร่วมบริการ บขส. ที่จะช่วยตรึงค่าโดยสารจนถึงหลังเทศกาลสงกรานต์ เมื่อถึงเวลาดังกล่าวทางกระทรวงคมนาคมจะเชิญผู้ประกอบการมาหารือต้นทุนที่แท้จริง และค่อยมาพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ แต่ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนว่า จะขอให้ผู้ประกอบการช่วยตรึงค่าโดยสารไปก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน นอกจากนี้ ในการศึกษาต้นทุนของผู้ประกอบการนั้น จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เชื่อว่า ผู้ประกอบการจะหาแนวทางอื่นมาช่วยปรับลด ต้นทุนลง นอกจากแนวทางที่จะขอปรับค่าโดยสารอย่างเดียว โดยรัฐบาลพยายามที่จะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะจดทะเบียนรถใหม่ได้สิทธิประโยชน์พิเศษเมื่อมีการนำรถยนต์เอ็นจีวีมาจดทะเบียนแทนรถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล

.

นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการ ซึ่งเป็นสมาคมผู้ประกอบการรถร่วมบริการของ ขสมก. กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ขสมก.ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมไปแล้ว เพื่อขอปรับค่าโดยสารในส่วนของรถโดยสารธรรมดาอีก 1.50 บาท จากปัจจุบัน 8.50 บาท และรถโดยสารประจำทางปรับอากาศอีกระยะละ 2 บาท เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่หยุด ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น โดยปัจจุบันต้นทุนรถโดยสารธรรมดาต่อการ ให้บริการผู้โดยสาร 1 ราย สูงถึง 12 บาทแล้ว แต่การที่ผู้ประกอบการขอปรับค่าโดยสารแค่ไม่เกิน 10 บาทนั้น ก็เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนมากเกินไป

.

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังได้เสนอแนวทางให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว โดยรัฐบาลสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนในวงเงิน 8,500 ล้านบาท นำมาจัดซื้อรถใหม่เป็นเครื่องยนต์เอ็นจีวี และให้ผู้ประกอบการรถร่วมบริการผ่อนชำระเพื่อซื้อรถดังกล่าว ซึ่งแนวทางนี้ผู้ประกอบการสามารถตรึงค่าโดยสารได้ในอัตรา 10 บาทต่อคน เป็นระยะเวลาถึง 5 ปี ในช่วงที่มีการผ่อนชำระ ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการยังรอคำตอบจากกระทรวงคมนาคมว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางเหล่านี้หรือไม่

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 มี.ค.) เวลา 14.00 น. คณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลางจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถร่วมบริการของ บขส.และ ขสมก. ซึ่งขณะนี้ได้ส่งต้นทุนให้พิจารณา โดยคณะกรรมการฯ จะดูถึงความจำเป็นของผู้ประกอบการ ประชาชน และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาว่าจะอนุมัติปรับค่าโดยสารหรือไม่.

.

ที่มา : สำนักข่าวไทย