เนื้อหาวันที่ : 2008-03-06 15:53:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1651 views

กทม. เล็งประยุกต์ใช้พลังงานหมุนเวียนนำร่องไบโอแก๊ส

รองผู้ว่าฯ กทม. บรรณโศภิษฐ์ หนุนพลังงานทดแทนปรับใช้กับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะไบโอแก๊ส พร้อมแนะส่งเสริมพลังงานทางเลือกให้สามารถเติบโตและไปได้กับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชน ให้สามารถมีใช้ได้อย่างพอเพียง และเกิดความยั่งยืน

รองผู้ว่าฯ บรรณโศภิษฐ์ ร่วมประชุมนานาชาติ WIREC นำประสบการณ์ประเทศประสบผลสำเร็จด้านพลังงานทดแทนปรับใช้กับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะไบโอแก๊ส พร้อมแนะส่งเสริมพลังงานทางเลือกให้สามารถเติบโตและไปได้กับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชน ให้สามารถมีใช้ได้อย่างพอเพียง และเกิดความยั่งยืน

.

รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม Washington International Renewable Energy Conference (WIREC 2008) เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการผลิตพลังงานสะอาดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้เกิดความมั่นใจว่าในอนาคตจะมีพลังงานใช้อย่างพอเพียง ทุกคนมีโอกาสใช้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ภาพรวมของการประชุมจะได้หาช่องทางช่วยกันค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการนำไปใช้ในกระบวนการผลิตพลังงาน รวมถึงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และการสนับสนุนการวิจัย การสนับสนุนงบประมาณการลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานทดแทน

.

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินการที่ผ่านมาของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน ทั้งประสบการณ์ที่ประสบผลสำเร็จและที่เป็นปัญหา ซึ่งเมืองหรือประเทศต่างๆ จะได้นำแนวทางเหล่านั้นไปปรับใช้กับเมืองหรือประเทศของตนต่อไป ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานราชการ เอกชนในระดับชาติ ท้องถิ่น ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องกว่า 2,000

.

โดยในช่วงเช้าภายหลังการเปิดงานเป็นการกล่าวปราศรัยของผู้นำงานด้านการจัดการพลังงานของประเทศต่างๆ เช่น Mr.John D.Negroponte รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอมเริกา ได้กล่าวถึงความท้าทายของประเทศต่างๆ ที่มาร่วมประชุมครั้งนี้ว่าจะนำผลการประชุมไปทำอะไรต่อไปกับประเทศหรือเมืองของตนในการพัฒนาพลังงานทดแทน การหาจุดร่วมของการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ Mr.Ed Schafer รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตภาคการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ให้เกิดเป็นการใช้เทคโนโลยีสีเขียว หรือ Green Technology

.

ทั้งนี้ภาคเกษตรกรรมมีส่วนสำคัญในการพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานชีวภาพ เอทานอล ซึ่งสมควรต้องมีการวิจัยและพัฒนาพืชที่สามารถนำมาเป็นพลังงานได้ในลักษณะพลังงานสะอาด หรือ Clean Energy มากกว่านี้ อีกทั้งการนำพลังงานชีวภาพที่พัฒนาขึ้นต้องมีการขยายผลในการใช้ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในเชิงการเกษตรที่ยั่งยืนในระยะยาว

.

การแยกแยะประเภทของการนำไปใช้ และการส่งเสริมให้สังคมยอมรับการใช้พลังงานทดแทน และหน่วยงานในระดับนโยบายต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด เช่น หน่วยง่านด้านพลังงาน หน่วยงานด้านการเกษตร เป็นต้น Mr.Michael Muller เลขาธิการสภาแห่งชาติ ประเทศเยอรมัน ได้กล่าวถึงเมืองบอนที่ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 40% ในปี 2020 ซึ่งปัจจุบัน 40% ของพลังงานของเมืองมาจากพลังงานหมุนเวียน Mr.Zhang Xiaoqiang รองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กล่าวถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งเป้าลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 10% ภายในปี 2010 และลด 50% ในปี 2020

.

ทั้งนี้ได้เสนอแนะว่าการตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนต้องปรับให้เข้ากับสภาพ ลักษณะและความสามารถของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร บุคลากร ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องให้ความสำคัญในการช่วยเหลือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อการเพิ่มพูนความรู้ด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะความรู้เทคโนโลยีด้านพลังงาน ให้สามารถพัฒนาไปด้วยกันได้อย่างเท่าเทียม

.

ทั้งนี้แต่ละประเทศได้มีนโยบายการจัดการพลังงานและการจัดการงานด้านสิ่งแวดล้อมไปในแนวทางต่างกัน แต่สิ่งที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญคือการส่งเสริมพลังงานทางเลือกให้สามารถเติบโตและไปได้กับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชน ให้สามารถมีใช้ได้อย่างพอเพียง และเกิดความยั่งยืนของการพัฒนา เกิดความสมดุลระหว่างอาหาร พลังงาน ไม่ให้เกิดปัญหาภาวะขาดแคลน ซึ่งต้องกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจน และไม่ลืมประเด็นทางด้านสังคมด้วย

.

บ่ายวันเดียวกันมีการกล่าวถึงประเด็นความมั่นคงทางด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพอากาศ และการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนพร้อมกับการพัฒนาชนบท ภายใต้หัวข้อหลักว่าด้วยเรื่องพลังงานหมุนเวียน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นส่วนใหญ่ และประเด็นของการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนที่จะถูกลงในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตเป็นจำนวนมากจะมีราคาถูกลง ในขณะที่พลังงานน้ำมันในปัจจุบันจะมาคาแพงขึ้นและหายากในอนาคต

.

ภายหลังการประชุมในวันแรก รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวว่า กรุงเทพมหานครจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง ซึ่งตัวอย่างแต่ละประเทศที่นำเสนอไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพัฒนา โดยเฉพาะด้านพลังงานชีวภาพนั้น กรุงเทพมหานครได้มีการศึกษาถึงการนำขยะอินทรีย์มาเข้ากระบวนการเพื่อนำไปผลิตไบโอแก๊ส นำกลับมาใช้อีก นอกจากนั้นแล้วต้องส่งเสริมความรู้และทัศนคติให้กับประชาชนในการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทน ให้ตระหนักว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนเป็นผู้ก่อปัญหาและสามารถร่วมมือกันได้